ยินดีต้อนรับ

Asst. Prof. Dr.Natdhnond Sippaphakul

วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

(053) ธรรมปฏิบัติสัญจร ณ ประเทศอินเดียและเนปาล ครั้งที่ 1/2557 และครั้งที่ 2/2558




วาระที่ 1
ธรรมปฏิบัติสัญจรและจาริกแสวงบุญ
ณ ประเทศอินเดีย และเนปาล
  
21-29 มีนาคม 2557
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล


ความนำ


        ท่านทั้งหลาย แม้พวกเราผู้เป็นนักภาวนา พอจะรู้และเข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้อยู่ ณ ที่แห่งใด แต่ท่านอยู่ที่หัวใจของพวกเรา เรากราบและบูชาพระพุทธเจ้าก็ที่ใจ ถึงพระพุทธเจ้าได้ก็ที่ใจ เมื่อใจถึงธรรมได้ ใจก็จะเห็นพระพุทธเจ้า  ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงอยู่ที่หัวใจของพวกเรา ดังจะเห็นได้จากพระอรหันต์เจ้าในยุคหลังแทบทุกองค์ ท่านก็ไม่เคยไปอินเดีย แต่เมื่อท่านบรรลุธรรม ท่านก็เห็นพระพุทธเจ้าปรากฏขึ้นที่ใจของท่าน ซึ่งเป็นไปตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราพระตถาคต” 

         แม้จะทราบดีตามนั้นแล้วก็ตาม แต่พวกเราผู้เป็นเหล่าพุทธศาสนิกชน ก็ยังมีความปีติยินดีและปรารถนาจะดั้นด้นไปให้ถึงที่ซึ่งพระพุทธองค์ ได้เสด็จมาประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน แม้สถานที่แห่งนั้นจะเกิดเหตุการณ์ล่วงมานานแล้ว หรือแม้แต่สถานที่และศาสนวัตถุที่เกี่ยวข้อง จะเสื่อมสลายไปบ้าง หรือแม้แต่หนทางที่จะไป ชั่งลำบากสุดเหลือประมาณก็ตาม แต่ด้วยความเคารพและศรัทธาต่อพระพุทธองค์อย่างหาที่สุดมิได้ หลายๆคนจึงได้ตั้งจิตอธิษฐาน และมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึง ที่ซึ่งเคยเป็นดินแดนพุทธภูมิ ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต ดั่งที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ดูกรพระอานนท์ ชนเหล่าใดเที่ยวจาริกไปยังเจดีย์ 4 สถานเหล่านั้นแล้ว มีจิตเลื่อมใส ชนเหล่านั้นทั้งหมด เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์” มหาปรินิพพานสูตร ทีฆ.มหาวรรค.10/131/135 (พระราชรัตนรังษี (ว.ป. วีรยุทโธ).2551 : ไม่ปรากฏเลขหน้า)

        อย่างไรก็ตาม ในบทความต่อไปนี้ ผู้เขียนจะขอเขียนทั้งในเชิงแบบทางโลกและในแบบทางธรรม กล่าวคือ ผู้เขียนจะขอเล่าประสบการณ์ที่เห็นด้วยตาเนื้อ เห็นอย่างไรก็ว่าไปอย่างนั้น ตามภูมิและสัญญาความจำหมายได้ และในอีกส่วนหนึ่ง จะเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับทางธรรม ทั้งที่เกิดขึ้นกับตัวเองและญาติธรรม ด้วยการเห็นด้วยตาใน  ซึ่งในทางธรรมท่านเรียกว่าอจินไตย หรืออภินิหาริย์ธรรม หรือความอัศจรรย์ที่บังเกิดขึ้นที่ใจ ข้อเขียนอันหลังนี้ ขอให้ท่านจงใช้วิจารณญาณกันเอาเอง เพราะเป็นเรื่องเกินวิสัยของปุถุชน อย่าพึ่งเชื่อในสิ่งที่บอก และอย่าพึ่งปรามาสในสิ่งที่ได้ยิน วางใจไว้กลางๆ ตามหลักกาลามสูตร แล้วค่อยๆ พิสูจน์กันไป เทียบเคียงทั้งปริยัติ และการปฏิบัติด้วยตนเอง เมื่อเกิดผลเป็นปฏิเวธแล้ว เมื่อนั้นท่านจึงจะรู้ว่า ควรพึงเชื่อได้ หรือควรวางเฉยในสิ่งนั้นเสีย หรืออาจอ่านเป็นแต่เพียงนิทานธรรม เพื่อความบันเทิงใจ ก็พออนุโลมเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันได้  

ประเทศอินเดีย

         "อินเดียเป็นมหาอาณาจักรที่รวบรวมความหลากหลายทั้งเก่าใหม่ ล้ำสมัย มั่งมี จนยาก ให้อยู่ด้วยกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้ผู้คิดเห็น ทั้งพบเจอ เกิดมุมมองที่กว้างแคบ ถี่ห่าง ต่างกันไปตามวิสัยทัศน์อย่างอิสระ" (พระราชรัตนรังษี (ว.ป. วีรยุทโธ).2549 : ไม่ปรากฏเลขหน้า)

         ท่านทั้งหลาย ประเทศอินเดีย เป็นประเทศที่อยู่ในดินแดนชมพูทวีปตามมิติของพระพุทธศาสนา และเป็นดินแดนแห่งเมืองสัจธรรม ที่พระพุทธเจ้าหลายๆพระองค์ ได้เสด็จมาสร้างบารมีและตรัสรู้ในดินแดนแห่งนี้มาแล้วแต่อดีต และในอนาคตก็จักบังเกิดขึ้นมีอีก ดังที่เราเรียนรู้จากพระไตรปิฎก แต่ความรู้ในทางโลกนั้น เรารู้แต่เพียงว่า ประเทศอินเดีย (India) หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐอินเดีย (Republic of India) ตั้งอยู่ในทวีปเอเชียใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของอนุทวีปอินเดีย มีประชากรมากกว่าหนึ่งพันล้านคน นับเป็นอันดับที่สองของโลก และยังนับเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอีกด้วย อินเดียมีภาษาพูดประมาณแปดร้อยภาษา ในส่วนของด้านเศรษฐกิจนั้น อินเดียมีอำนาจในการซื้อมากเป็นอันดับที่สี่ของโลก ส่วนลักษณะของภูมิประเทศนั้น อาณาเขตทางทิศเหนือติดกับจีน เนปาล และภูฏาน ทางตะวันตกเฉียงเหนือติดกับปากีสถาน ทางตะวันออกติดกับเมียนม่าร์ ทางตะวันตกเฉียงใต้จรดมหาสมุทรอินเดีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ติดกับศรีลังกา โดยมีบังกลาเทศล้อมรอบอยู่ทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก อินเดียมีพื้นที่ทั้งหมด 3,287,590 ตารางกิโลเมตร จึงเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 7 ของโลก โดยมีเชื้อชาติหลากหลายคือ อินโด-อารยัน ร้อยละ 72 ดราวิเดียน ร้อยละ 25 มองโกลอยด์ ร้อยละ 2 และอื่น ๆ ร้อยละ 1 โดยมีอัตราการเพิ่มของประชากร ร้อยละ 1.8 พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) และอัตราการรู้หนังสือ ร้อยละ 52.1 เนื่องจากอินเดียมีประชากรกว่า 1,100 ล้านคน ประชากรเหล่านี้จึงมีความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม โดยมีภาษาหลักใช้พูดถึง 16 ภาษา เช่น ภาษาฮินดี ภาษาอังกฤษ ภาษาเบงกาลี ภาษาอูรดู ฯลฯ และมีภาษาถิ่นมากกว่า 100 ภาษา ภาษาฮินดี ถือว่าเป็นภาษาประจำชาติ เพราะคนอินเดียกว่าร้อยละ 30 ใช้ภาษานี้ คนอินเดียที่อาศัยอยู่รัฐทางตอนเหนือและรัฐทางตอนใต้นอกจากจะใช้ภาษาที่แตกต่างกันแล้ว การแต่งกาย การรับประทานอาหารก็แตกต่างกันออกไปด้วย

         ในด้านศาสนา เนื่องจากประเทศอินเดียเป็นแหล่งกำเนิดพระศาสนาที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ศาสนาพราหมณ์ และพระพุทธศาสนา ชาวอินเดียจึงถือว่าครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคมที่มีความสำคัญที่สุด ระบบครอบครัวของอินเดียเป็นระบบครอบครัวร่วม หรือครอบครัวขนาดใหญ่ สมาชิกในครอบครัวประกอบด้วย ปู่ย่า พ่อ แม่ ลูก หลาน และเหลน อยู่ร่วมกันภายในครอบครัวเดียว ผู้อาวุโสที่สุดของฝ่ายชายจะเป็นหัวหน้าครอบครัว แม้สังคมของอินเดียยังคงมีความนับถือเรื่องวรรณะอยู่ แต่ก็ปรากฏไม่มากเท่าอดีต การดำเนินชีวิตของชาวอินเดียจะยึดถือศาสนาเป็นสิ่งสำคัญ กว่าร้อยละ 79 ของประชากรนับถือศาสนาฮินดู ร้อยละ 15 นับถือศาสนาอิสลาม ที่เหลือร้อยละ 2.5 นับถือศาสนาคริสต์ นอกนั้นนับถือศาสนาพุทธซึ่งส่วนมากอยู่ลาดัก หิมาจัล สิกขิม อัสสัม เบงกอลตะวันตก และโอริสสา ส่วนศาสนาซิกข์อยู่ในรัฐปัญจาบ และศาสนาเชนในรัฐคุชรัต และอื่นๆ รวมทั้งพวกนักบวชที่นับถือนิกายต่างๆ อีกมากมายประมาณ 400 ศาสนากระจายอยู่ในประเทศอินเดีย (เรียบเรียงจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2557 : ออนไลน์)


1. เมื่อบุญทำงาน 
การเดินทางแสวงบุญจึงบังเกิดขึ้น

         ท่านทั้งหลาย การเดินทางเพื่อจาริกแสวงบุญ ณ ประเทศอินเดียและเนปาลในครั้งนี้ ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อตอนเช้าตรู่ของวันศุกร์ที่ 21 มีนาคม 2557 และสิ้นสุดการเดินทางคือกลับถึงประเทศไทยในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 29 มีนาคม 2557 เป็นเวลา 8 คืน 9 วัน โดยมีคณะญาติธรรมทั้งหมด 22 ท่าน โดยมีผู้นำคณะทัวร์คือ คุณสุภาพรรณ เพิ่มพูล (ออยล์) นิสิตปริญญาเอก สาขาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร) และเพื่อนปริญญาเอก-โทอีกหลายท่าน โดยมีพระคุณเจ้าร่วมเดินทางด้วยสามรูป ส่วนผม (ดร.นนต์) คุณสมฤดี สิปปภากุล อุบาสิกาสำรวย ไตรแก้ว และคุณครูปุญญัสสิกา กองเงินนอก ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด จากคุณกาญจน์ณัฐ รัตนศรีบัวทอง หรือคุณหน่อย ซึ่งเป็นนิสิตปริญญาเอก มจร จึงขออนุโมทนาและขอบคุณทุกประการ







2. ธรรมบรรยาย 
ธรรมทานขณะเดินทาง

         ท่านทั้งหลาย ญาติธรรมและพระสงฆ์ที่ร่วมเดินทางไปจาริกแสวงบุญในครั้งนี้ ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้เชี่ยวชาญทางด้านพระไตรปิฎก และความรู้ทางด้านศาสนา ภาษาศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี นิติศาสตร์ และนักบริหารระดับสูง โดยเฉพาะ ดร.สุนทร พลามินทร์ ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม พระไตรปิฎก ภาษาศาสตร์ ท่านพูดได้หลายภาษา ท่านผ่านการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม มาจากศรีลังกาและอินเดีย เป็นอาจารย์และผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในศรีลังกา อินเดีย อเมริกา และในอีกหลายๆแห่ง ท่านได้ให้เกียรติมาเป็นผู้บรรยายหลักตลอดเส้นทาง นอกจากนั้น คณะยังได้แลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างนิสิตปริญญาเอกและโท สาขาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร) รวมทั้งพระคุณเจ้าทั้งสามรูปคือ พระครูศรีนิคมพิทักษ์ ซึ่งเป็นพระวิปัสสนาจารย์ของ มจร พระมหาวัฒนา คำเคน (เปรียญธรรม 9 ประโยค) ซึ่งเป็นนิสิต ป.เอก พระมหาธนวุฒิ อุปชัย พระเลขาของหลักสูตร ป.เอก อาจารย์ณัฐนันท์ สุดประเสริฐ อาจารย์สุเมธ บุญมะยา ซึ่งเป็นนิสิต ป.เอก ได้ผลัดเปลี่ยนกันบรรยายความรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งเกี่ยวเนื่องในสถานที่ต่างๆ รวมทั้งเหตุการณ์และบุคคลต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกอย่างละเอียด แม้แต่บุรุษผู้หนึ่ง จะไม่ได้เรียนพระปริยัติหรือพระไตรปิฎกมาก่อน แต่เมื่อมีโอกาสเช่นนี้ บุรุษผู้นี้จึงได้โน้มจิตรับฟังเรื่องราวต่างๆ เสมือนได้กลับไปทบทวนความรู้ความจำในอดีตชาติอีกครั้ง จนบางครั้ง เมื่อพิจารณาตามถึงกับทำให้เข้าสู่สมาธิอันสงบและสว่างได้ แม้จะนั่งอยู่บนรถ ที่วิ่งกระโตงกระเต็งไปมาตามทางอันขรุขระก็ตาม





3. นิทานธรรมเสมือนจริง
"อัศจรรย์สภาวธรรม ณ วัดไทยนาลันทา"

         ข้าพระพุทธเจ้า ขอนอบน้อมกราบสักการะบูชา พระสมณโคดม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า ผู้เป็นองค์พระบรมครูแห่งข้าพระพุทธเจ้า ตลอดจนองค์พ่อแม่ครูอาจารย์พระอรหันตเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอขมากรรม หากข้อความในนิทานธรรมทุกๆ ตอนต่อไปนี้ มิได้เป็นไปจริงตามข้อธรรม ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ เพราะข้าพระพุทธเจ้า แสดงออกไปตามประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ตามสติปัญญาที่มีอยู่ มิใช่สภาวธรรมของผู้พ้นกิเลสแล้ว อาจมีความคลาดเคลื่อน จึงมิได้มุ่งหมายให้ผู้ใดนำไปเป็นครูอาจารย์ ดังนั้น ขอให้ท่านทั้งหลาย ได้อ่านนิทานธรรมเหล่านี้ เป็นแค่ความเพลิดเพลิน ก็พออนุโลมเป็นกำลังใจแก่กันและกัน ดังนิทานธรรมต่อไปนี้

         ท่านทั้งหลาย นิทานธรรมตอนนี้ สมมุติเกิดขึ้นในตอนเช้าของวันที่ 21 มีนาคม 2557 เมื่อคณะแสวงบุญจากเมืองไทย ได้ลงที่สนามบิน กัลกัตตา ของอินเดียแล้ว จึงได้เดินทางต่อไปยังเมืองนาลันทา ด้วยรถโดยสารปรับอากาศทันที ใช้เวลาในการเดินทางราว 9-10 ชั่วโมง ตลอดเส้นทาง พวกเราได้เห็นสภาพบ้านเมือง และผู้คนที่ชั่งแตกต่างจากบ้านเรามาก เพราะยิ่งดู ยิ่งเห็นสัจธรรมบางอย่างที่บังเกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินชมพูทวีปแห่งนี้ นั่นอาจเป็นเพราะว่า อินเดียเป็นเสมือนเมืองของผู้คน ที่ต้องมาชดใช้วิบากกรรมร่วมกัน ดังอุบาสิกาสำรวย ไตรแก้ว (อุบาสิกาคู่บารมีของหลวงพ่อฉลวย อาภาธโร) ถึงกับสลดสังเวชในใจว่า “วันแรกที่ไปถึงประเทศอินเดียก็แปลกใจว่า ทำไมบ้านของพวกเขาทำเหมือนยังไม่แล้วเสร็จ เขาอยู่กันได้อย่างไร พอถามอาจารย์สุนทรท่านตอบว่า เขากลัวเสียภาษี ถ้าจะว่าเขาโง่ก็ไม่ใช่ วิถีชีวิตของเขาดูเหมือนว่าเขามีความพอใจที่จะอยู่อย่างนั้น ถึงเขาจะสกปรกมีคนเยอะแยะมากมาย แต่ก็ดูเหมือนว่าเขาไม่ทะเลาะกันเองเหมือนกับประเทศไทย” (สำรวย ไตรแก้ว. 2557 : บันทึกส่วนตัว)

         คณะของพวกเรา ได้เดินทางถึงวัดไทยนาลันทาก็มืดค่ำ เมื่อไปถึงแล้ว ทุกคนจึงได้เข้าที่พักตามอัธยาศัย เมื่อได้อาบน้ำและพักผ่อนพอควรแล้ว บุรุษผู้หนึ่งได้เข้าที่ภาวนาสมาธิในห้องพัก ส่วนอุบาสิกาสำรวย ไตรแก้ว และคุณครูกี๋ (ปุญญัสสิกา กองเงินนอก) ได้ออกไปเจริญภาวนาในอุโบสถ และทั้งสองได้พบกับเรื่องราวของชาวโลกวิญญาณ ที่เข้ามาสนทนาด้วย โดยเฉพาะอุบาสิกาสำรวย ไตรแก้ว แม้ท่านจะมีความรู้ทางโลกน้อย แค่ชั้นประถม และไม่เคยเรียนรู้พระไตรปิฎก หรือภาษาธรรมมาก่อน แต่ท่านก็ปฏิบัติธรรม จนสามารถมีญาณที่รู้เห็น ดังบันทึกที่เขียนไว้ว่า

          “เรื่องของการปฏิบัติธรรมที่วัดแรก (ไทยนาลันทา) หลังจากที่ทุกคนเข้านอนหมดแล้ว เรากับครูกี๋สองคน คิดอยากจะนั่งสมาธิกัน ก็เลยถามพระอาจารย์องค์ที่นั่งรถมาด้วยกันว่า ถ้าจะนั่งสมาธิตรงโบสถ์ได้ไหมค่ะ อาจารย์ท่านก็ว่าได้ ก็เลยนั่งสักสามสิบนาที พอจิตรวมเป็นสมาธิเข้าสู่ความว่างจากความคิดทั้งหลาย ญาณก็เกิดขึ้น “ญาณ” คือความรู้ได้เฉพาะตน ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ฌาน เพราะฌานเกิดจากการเพ่ง พอญาณเกิดขึ้น อายตนะภายในใจรู้ทิพยจักษุ(ตาทิพย์) และโสตทิพย์(หูทิพย์) คือได้ยินและเห็นพร้อมๆกัน เห็นวิญญาณของคนอินเดียมามาก มาพร้อมกับเสียงหมาหอนยาว...เย็น เราก็เลยถามเขาไปว่า ทำไมพวกท่านเกิดอยู่เมืองของพระพุทธองค์แท้ๆ ทำไมยังเหลือตกค้างกันเยอะจัง วิญญาณเหล่านั้นบอกว่า เพราะว่าเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ออกบวช พวกเราดูถูกพระองค์ว่า เป็นถึงลูกเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ ทำไมมาบวชบิณฑบาตขอทาน เหมือนคนโง่ เหมือนคนไม่มีปัญญา จึงเป็นเหตุให้พวกเราตกค้างไม่ได้ไปเกิด ถ้าพวกเราเชื่อพระองค์ ก็คงเหมือนกับพวกท่าน แต่พวกเราโง่ไปดูถูกพระองค์ พระองค์บิณฑบาตขอทานก็เพื่อโปรดสัตว์โลก เพราะสงสารและเมตตาสัตว์โลกผู้ที่บุญน้อยด้อยปัญญา แต่พวกเราขอทานเพราะเกิดจากกิเลสความอยากและขี้เกลียด” (สำรวย ไตรแก้ว. 2557 : บันทึกส่วนตัว)


วัดไทยนาลันทา อินเดีย



4. นิทานธรรมเสมือนจริง
"อัศจรรย์สภาวธรรม ณ เขาคิชฌกูฏ"

        ท่านทั้งหลาย พุทธศาสนิกชนมักเคยได้ยินและคุ้นเคยกับคำเหล่านี้ อาทิเช่น “กรุงราชคฤห์” “เขาคิชฌกูฏ” “ป่าเวฬุวัน” และเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าอชาตศัตรู พระเทวทัต และหมอชีวกโกมารภัจจ์ เพราะเรื่องราวต่างๆ ได้บังเกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ มาตั้งแต่เมื่อครั้งพุทธกาล ณ เมืองโบราณแห่งนี้มาแล้วทั้งนั้น

        “กรุงราชคฤห์” (Rajgir) เป็นชื่อเมืองหลวงของแคว้นมคธสมัยพุทธกาล และถือเป็นเมืองตั้งหลักของพระพุทธศาสนา โดยพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารผู้ครองนคร และนับเป็นเมืองที่มีประวัติความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามากที่สุด ราชคฤห์เป็นเมืองในหุบเขา โดยมีภูเขาล้อมรอบถึง 5 ลูก คือ อิสิคิรี บัณฑวะ คิชฌกูฏ เวภาระ และเวปลละ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เบญจคีรีนคร  แต่ในปัจจุบัน ราชคฤห์เป็นเพียงเมืองเล็กๆ ของจังหวัดนาลันทาที่อยู่ในรัฐพิหาร มีผู้อยู่อาศัยไม่มาก มีสภาพเกือบเป็นป่าแทบไม่หลงเหลือความเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ในอดีต แต่กระนั้น ก็นับเป็นสถานที่แสวงบุญของชาวพุทธทั่วโลกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ปัจจุบันยังปรากฏซากปรักหักพังของโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าและพระสาวกอยู่มากมาย เช่น พระคันธกุฎีบนยอดเขาคิชฌกูฏ วัดเวฬุวันซึ่งเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ถ้ำสุกรขาตาที่พระสารีบุตรได้บรรลุธรรม ถ้ำพระโมคคัลลานะ ถ้ำสัตบรรณคูหาที่ทำสังคายนาครั้งแรก บ้านหมอชีวก และคุกขังพระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น

        “เขาคิชฌกูฏ” เป็นภูเขาที่มีลักษณะเอียงลาดยาวขึ้นไป ปัจจุบันทางขึ้นไม่ลำบากมากนักเพราะทางการได้สร้างทางเดินด้วยคอนกรีตเป็นขั้นบันได เมื่อขึ้นไปได้สักพักจะเห็นบริเวณที่พระเทวทัตคิดทำร้ายพระพุทธเจ้า โดยพระเทวทัตแอบขึ้นไปบนยอดเขาคิชฌกูฏ แล้วงัดก้อนหินใหญ่ลงมา หวังจะปลงพระชนม์พระบรมศาสดา ในขณะที่พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปประทับที่คันธกุฎีของพระองค์บนยอดเขา แต่ก็ไม่อาจทำอันตรายพระบรมศาสดาได้ เป็นแต่เพียงสะเก็ดหินได้กระเด็นไปกระทบพระบาทจนห้อพระโลหิต และหมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์ประจำพระองค์ก็ได้ถวายการปฐมพยาบาลพระองค์ในครั้งกระนั้น จากนั้นก็ผ่านถ้ำพระโมคคัลลานะ และถ้ำสุกรขาตา (ถ้ำพระสารีบุตร) ที่อยู่ห่างกันไม่กี่สิบเมตร เมื่อขึ้นไปถึงบนยอดเขาคิชฌกูฏแล้ว จึงพบลานกว้างพอสมควร มีซากอิฐปรักหักพังลักษณะสี่เหลี่ยมเป็นแนวหลงเหลืออยู่บริเวณชะง่อนหน้าผา พอให้ทราบว่าเป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ ซึ่งเรียกว่า “คันธกุฎี” หรือ พระมูลคันธกุฎี แปลว่า กุฎีที่มีกลิ่นหอม เป็นชื่อเรียกสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ ในพุทธประวัติเล่าว่า สถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าทุกแห่ง จะมีผู้นำของหอมนานาชนิดไม่ว่าจะเป็นไม้หอม ดอกไม้หอม เป็นต้น มาบูชาพระพุทธเจ้ามิได้ขาด นอกจากนั้น บนยอดเขาแห่งนี้ นับเป็นสถานที่เงียบสงบ อากาศปลอดโปร่งเย็นสบาย แม้คณะพวกเราจะเดินทางไปถึงราวแปดโมงเช้า และมีแดดส่องมาแล้วก็ตาม อากาศก็ยังเย็นสบายและมีลมโชยอ่อนๆมาเป็นระยะๆ จึงเหมาะกับการเจริญภาวนาเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้กระมัง พระพุทธองค์จึงมักเสด็จมาประทับที่นี่เสมอ




เขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ อินเดีย


"สภาวธรรม" บนเขาคิชฌกูฏ

         ท่านทั้งหลาย เมื่อทุกคนก้าวลงจากรถและเดินไปตามทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ สองข้างทางก็จะพบกับขอทานที่มอซอ มีอายุตั้งแต่พอพูดได้ไปจนถึงวัยชราหลังค่อม เมื่อพวกเราเดินผ่านไป ก็จะได้ยินเสียงเรียกว่า “มหาราชา” “มหารานี” ตะเบงเซงแซ่ บ้างก็ทำหน้าตาน่าสงสาร บ้างก็ดัดเสียงดัดจริตและท่าทางออดอ้อน บ้างก็ติดตามตื้อเป็นพัลวัน ผู้ไปใหม่อาจจะรู้สึกอึดอัด แม้ใจของทุกคนอยากจะทำทานแทบใจจะขาด แต่ก็ต้องอดทนอดกลั้นไว้ เพราะหากให้ไปแล้วหนึ่งสองสามคน ก็จะมีเข้ามาอีกนับสิบๆ จนชุลมุนวุ่นวายแทบเอาตัวไม่รอด ผู้นำทัวร์จึงต้องเตือนกันไว้ จึงได้แต่สงสารและปลงสังเวชพร้อมทั้งวางใจเป็นอุเบกขา และให้รีบเดินจากไปเสีย 

         อย่างไรก็ตาม บุรุษผู้หนึ่งได้ปลีกตัวเดินขึ้นเขาไปก่อนหมู่พวก ด้วยใจที่มุ่งมั่นที่อยากจะเดินขึ้นไปให้ถึงโดยไว เพื่อจะได้นั่งภาวนาสมาธิถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา จึงเดินภาวนาไต่ความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่แปลกที่ไม่ปรากฏอาการเหน็ดเหนื่อยแม้แต่น้อย อาจด้วยอานิสงส์ที่มุ่งมั่น และด้วยอำนาจของสมาธิภาวนา จึงมีแต่อาการปีติสุขที่บังเกิดขึ้นที่ใจ เมื่อขึ้นไปถึงแล้ว บุรุษผู้นี้ ได้เข้าไปนั่งภาวนาอยู่หน้าผาข้างคันธกุฎี การภาวนาในสถานที่แห่งนี้ แปลกเพราะสมาธิสงบได้เร็ว จิตก็ปลอดโปร่ง เพราะมีลมพัดโชยอ่อนๆ เย็นสบาย แม้แดดจะส่องมาแล้วก็ตาม ไม่นานจิตก็สว่างและทรงอยู่นาน จิตพิจารณาธรรมไป ใจก็เห็นอาการเกิดดับ เห็นความไม่เที่ยง เห็นความทุกข์ของสัตว์โลก เห็นความดีความเสียสละของพระพุทธองค์และเหล่าสาวกอรหันต์ จิตก็ปีติซาบซ่านตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่น

         เมื่อขากลับเดินลงจากเขา ก็ได้พบกับขอทานอีก จิตก็ได้กลับไปพิจารณาถึงความทุกข์ของสัตว์โลกอีกครั้ง สักพัก จิตเสมือนรู้ขึ้นมาว่า เหตุแห่งชนขอทาน ที่มาเกิดในเมืองเหล่านี้ หรือจะเป็นเพราะว่าพวกท่าน เคยกล่าววาจาดูถูกพระราชาของพวกท่าน ดูถูกพระราชาผู้อยู่ในศีลในธรรม ผู้เป็นอัครอุปถัมภกของพระพุทธองค์ หรือแม้แต่พระพุทธองค์ ก็เป็นถึงเชื้อสายพระราชา แต่พวกท่านกลับไม่เคารพยำเกรงผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ  จึงเป็นเหตุให้พวกท่านกลับมาเกิดชดใช้วิบากกรรม ด้วยการร้องขอทานว่า “ท่านมหาราชา” “ท่านมหารานี” อยู่เช่นนี้ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ส่วนจะจริงแท้แค่ไหนไม่ทราบได้ แต่ใจก็ได้พิจารณาไปตามปัญญาที่ผุดขึ้นมาตามนั้น 



คันธกุฎี เขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ อินเดีย


          นอกจากนั้น ยังมีผู้เกิดสภาวธรรม ในสถานที่แห่งนี้อีกหลายท่าน แตกต่างกันไปตามภูมิและบุญวาสนา อาทิ คุณครูกี๋ (ปุญญัสสิกา กองเงินนอก) ก็เกิดสภาวธรรมบางอย่างเช่นกัน ดังคำบอกเล่าของเธอต่อไปนี้

          “ในวันนี้ น้ำตาซึมตั้งแต่เข้าเขตบริเวณเขาคิชฌกูฏ เห็นความลำบากของพระพุทธองค์ เมื่อถึงยอดเขา จึงไม่แปลกใจที่กายก้มลงกราบด้วยใจที่นอบน้อม เทิดทูนไว้เหนือเศียรเกล้า ภาพที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันคือ ภาพของพระพุทธองค์ มีพระสาวกรายล้อมแถวยาวเรียงรายสุดลูกตา สาวกในปัจจุบันที่พอจำได้ มีหลวงตามหาบัว หลวงปู่มั่น และหลวงพ่อฉลวย อาภาธโร  ถัดมาเป็นภาพของพญางูใหญ่ลำตัวสีดำ ได้แต่จ้องมองเพียงเท่านั้น อาการที่เกิดขึ้นทางกายนั้น นิ่ง หนัก และแน่น ราวกับถูกสั่งห้ามมิให้ขยับ สักพักจึงคลายออกจากสมาธิได้ เกิดปีติอีกเรื่องคือ การได้เห็นและได้กราบหลวงพ่อพระอารยวังโส (จังหวัดลำพูน) เลยถือเป็นความโชคดีของชีวิตในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ แม้อยู่ในประเทศไทยแท้ๆ ยังหาโอกาสได้ยาก ได้แต่ปีติในบุญ” (ปุญญัสสิกา  กองเงินนอก. 2557 : บันทึกส่วนตัว)



อุบาสิกาสำรวย ไตรแก้ว และคุณครูปุญญัสสิกา กองเงินนอก




หลวงพ่ออารยวังโส เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย จ.ลำพูน



ข้างคันธกุฎี เขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ อินเดีย



          รวมทั้ง คุณสมฤดี สิปปภากุล เธอก็บังเกิดสภาวธรรมขึ้นที่ใจเช่นกัน จึงได้เล่าให้ฟังว่า... “เช้าของวันที่ 22 มีนาคม 2557 พวกเราได้เดินทางไปขึ้นเขาคิชฌกุฏ ณ ที่แห่งนี้ ข้าพเจ้าก็ได้ประสบกับสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่คาดคิดมาก่อนว่า จะได้เจอเหตุการณ์เยี่ยงนี้ ข้าพเจ้าได้เดินถ่ายรูปอย่างเพลิดเพลิน ตามทางขึ้น วิว ทิวทัศน์ สวยงามมาก เพราะเป็นยามเช้า โดยไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ทว่า  พอข้าพเจ้าขึ้นไปถึงข้างบน ซึ่งเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า  ข้าพเจ้าก็แปลกใจตัวเองมากว่า... ทำไม ข้าพเจ้ามองเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่มาก องค์ของท่านคล้ายหินขาวหรือแก้ว ลอยอยู่กลางอากาศระหว่างที่ประทับกับภูเขา แต่ข้าพเจ้าเห็นทางด้านข้างขององค์ท่าน  บรรยากาศใส สงบ เย็น สบายตา สบายใจ  ข้าพเจ้าลองกระพริบตา ลืมตา  หลับตา  ข้าพเจ้าก็เห็นเหมือนเดิม ทันใดนั้น น้ำตาของข้าพเจ้าก็เริ่มซึมออกมาเล็กน้อย  ข้าพเจ้าคิดขึ้นมาว่า ทำไมเราถึงเห็นองค์ท่าน  ข้าพเจ้าลองกระพริบตา หลับตาอยู่หลายครั้ง  ข้าพเจ้ามีความปีติเป็นที่สุด  ข้าพเจ้าคิดขึ้นมาว่า ไม่ได้แล้ว ต้องรีบนั่งภาวนาแล้ว แล้วข้าพเจ้าก็รีบกราบที่ประทับของท่าน แล้วนั่งภาวนาต่อไป ขณะที่นั่งภาวนานั้น  ข้าพเจ้าก็เห็นองค์ท่านเหมือนเดิม บรรยากาศใส เย็น จิตอันซุกซนของข้าพเจ้าก็คิดต่อไปอีกว่า  ทำไมท่านไม่หันหน้ามาทางเราหนอ.... หลังจากนั้นไม่นาน ข้าพเจ้าก็ได้เห็นองค์ของท่านหันหน้าแวบเข้ามาซ้อนทับกับองค์ที่หันข้าง  แต่ข้าพเจ้าเห็นแวบเดียว แล้วก็เห็นด้านข้างตลอด พอข้าพเจ้าถอนจากสมาธิ ก็เจอคุณๆขึ้นมาถึงพอดี คุณๆก็พาเดินสวดอิติปิโส 3 รอบเสร็จ หลวงพ่อพระครูก็ขึ้นมาถึงอีกครั้ง แล้วก็สวดมนต์กันอีกรอบ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ข้าพเจ้าไม่อยากลงมาจากที่ที่ประทับของท่านเลย สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งดินแดนพุทธภูมินี้ ข้าพเจ้าจะไม่มีวันลืมเลย (สมฤดี สิปปภากุล. 2557 : บันทึกส่วนตัว)



บันไดทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ



ถ้ำสุกรขาตา (ถ้ำพระสารีบุตร) เมืองราชคฤห์ อินเดีย



ถ้ำพระโมคคัลลานะ เมืองราชคฤห์ อินเดีย



5. นิทานธรรมเสมือนจริง
"อนิจจังมหาวิทยาลัยนาลันทา"

          ท่านทั้งหลาย ในเช้าของวันที่ 22 มีนาคม 2557 หลังจากคณะของเราได้ลงจากเขาคิชฌกูฏแล้ว คณะของพวกเรามุ่งหน้าสู่เมืองนาลันทาอีกครั้ง เพื่อไปกราบสักการะหลวงพ่อองค์ดำ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะงดงาม พระเกตุทรงบัวตูม ปางนั่งขัดสมาธิ แบบ “ปางมารวิชัย” เป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหินสีดำ หน้าตักกว้าง 60 นิ้วฟุต สูงนับจากพระเพลาถึงยอดพระเกตุ 69 นิ้วฟุต เป็นพระพุทธรูปที่มีความสมบูรณ์ที่สุด พระนาสิกวิ่นและนิ้วพระหัตถ์บิ่นเล็กน้อย ซึ่งมีอายุเก่าแก่มากกว่าพันปี  และตั้งอยู่ติดกันทางทิศตะวันตกของมหาวิทยาลัยนาลันทา  สร้างในสมัยพระเจ้าเทวาปาล  ระหว่าง  พ.ศ. 1353 - 1393 โดยท่านธรรมปาล ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เหลืออยู่องค์เดียวในบริเวณมหาวิทยาลัยนาลันทานี้  เพราะรอดพ้นจากการถูกเผาทำลาย และถูกเศษอิฐเศษหินทับถมจมลงใต้ดินเป็นเวลานานเกือบ 700 ปี ต่อมาได้ถูกค้นพบโดย ดร.สปูนเนอร์ เมื่อ พ.ศ. 2458 จึงนับว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มากที่สุดอีกองค์หนึ่งของชาวอินเดีย และชาวพุทธทั่วโลก ที่ต้องไปกราบท่านให้ได้สักครั้งหนึ่งเช่นกัน





หน้าอาคารประดิษฐานหลวงพ่อองค์ดำ เมืองนาลันทา อินเดีย


         หลังจากนั้น คณะของพวกเรา ได้ไปชมมหาวิทยาลัยนาลันทาที่อยู่ติดกัน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งแรก ที่ยิ่งใหญ่และโด่งดังในอดีต เมื่อไปถึงตอนแรก บุรุษผู้หนึ่งคิดว่า จะไม่ลงจากรถเพื่อไปดูสถานที่ข้างในมหาวิทยาลัย แต่มีเหตุดลใจบางอย่างแผ่เข้ามา จิตรู้ว่า เสมือนมีผู้ขอความเมตตา สื่อเข้ามาเป็นระลอกๆ จึงระลึกขึ้นมาได้ว่า เมื่อตอนที่นั่งฟังเรื่องราวของมหาวิทยาลัยแห่งนี้บนรถ วิทยากรเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งอดีต ตอนที่มหาวิทยาลัยนาลันทาล่มสลาย ในประมาณปี พ.ศ. 1742 กองทัพมุสลิมเติรกส์ได้ยกมารุกราน และรบชนะกษัตริย์แห่งชมพูทวีปฝ่ายเหนือ และเข้าครอบครองดินแดนโดยลำดับ กองทัพมุสลิมเติรกส์ ได้เผาผลาญทำลายวัด และปูชนียสถานในพุทธศาสนาลงแทบทั้งหมด และสังหารผู้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา พระภิกษุก็ถูกสังหารแทบหมดสิ้น พระสงฆ์บางรูปที่มีจิตใจเข้มแข็งก็เข้าที่ภาวนาสมาธิ นั่งรอความตายจนคอขาดกระเด็น บางรูปจิตใจไม่เข้มแข็งพอ ต่างก็พยายามวิ่งหนีเอาตัวรอด ว่ากันว่า เลือดแดงนองเต็มแผ่นดิน เพราะมีพระภิกษุสงฆ์อยู่นับหมื่นๆองค์ และในที่สุด มหาวิทยาลัยนาลันทา ก็ถึงแก่ความพินาศลงตั้งแต่บัดนั้นมา 

              เมื่อบุรุษผู้นี้ ได้ฟังเรื่องราวนี้จบลง ถึงกับทำให้เกิดความสังเวชในใจ พลันมีบางอย่าง ประหนึ่งขอความเมตตาได้แผ่ซ่านเข้ามา จึงตั้งใจไว้ว่า เมื่อไปถึงมหาวิทยาลัยนาลันทา เราจะลงไปแผ่เมตตาให้กับวิญญาณเหล่านั้น เมื่อระลึกขึ้นมาได้เช่นนี้ จึงต้องขอให้อุบาสิกาสำรวยและคุณครูกี๋ ลงไปช่วยกันแผ่บุญกุศลอีกครั้ง  หลังจากนั้น จึงได้เดินทางมุ่งหน้าสู่เมืองกุสินาราต่อไป




มหาวิทยาลัยนาลันทาในปัจจุบัน เมืองนาลันทา อินเดีย



6. นิทานธรรมเสมือนจริง
"อัศจรรย์สภาวธรรม ณ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์"

         ท่านทั้งหลาย คณะของพวกเราออกจากนาลันทา ราวๆเกือบเที่ยง แล้วมุ่งหน้าสู่เมืองกุสินารา ผ่านถนนดีบ้างไม่ดีบ้าง สลับกันไปกับเสียงแตรเสียงเบรก และความพลุกพล่านของผู้คน สมกับเป็นเมืองแห่งสัจธรรม บนรถคณะวิทยากรและเพื่อนร่วมทาง ต่างก็สับเปลี่ยนกันอธิบาย และเล่าเรื่องราวในพระไตรปิฎก สลับกับเรื่องราวของชาวอินเดีย เมื่อผ่านสถานที่ใด วิทยากรก็อธิบายไป เมื่อไปถึงเมืองไวสาลี คณะของพวกเราได้แวะไปกราบปาวาลเจดีย์ และเยี่ยมชมวัดป่ามหาวัน ซึ่งยังมีเสาหินของพระเจ้าอโศกตั้งตระหง่าน เพื่อเป็นสักขีพยานว่า ณ สถานที่แห่งนี้ เคยเป็นวัดในพระพุทธศาสนาอันรุ่งเรืองมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาลมาแล้ว 





ณ ปาวาลเจดีย์ เมืองไวสาลี อินเดีย




ณ วัดป่ามหาวัน เมืองไวสาลี อินเดีย


         หลังจากนั้น คณะของเราก็มุ่งหน้าสู่เมืองกุสินาราต่อไป เนื่องจากการเดินทางยาวนาน บางท่านเหนื่อยก็หลับไป ใครชอบภาวนาก็ภาวนาไป ก็อยู่กันได้บนรถที่โยกเยกไปมา รถแล่นไปเรื่อยๆ มืดค่ำจนดึกแล้วก็ยังไม่ถึงสักที หลายๆคนจึงเผลอหลับไป ส่วน "บุรุษผู้หนึ่ง" ได้ถือโอกาสนั่งภาวนา ไม่นานจิตก็สงบลงไป เสียงบรรยายและเสียงนานาเงียบหายไป เพราะถูกตัดออกไปจากทวาร สติตามรู้อยู่พลัน ปรากฏแสงสว่างบังเกิดขึ้น แสงสว่างส่องผ่านทะลุหน้ารถออกไปข้างหน้า  พิจารณาภาพและสิ่งที่แลเห็นอยู่ไม่นาน พลันได้ยินรถเบรกเสียงดัง พร้อมกับหยุดลงอย่างกะทันหัน จิตจึงถอนออกมา พร้อมกับได้ยินเสียงไถ่ถามกันอื้ออึงว่า เกิดอะไรขึ้น มองเห็นเด็กรถ ลงจากรถ ส่งเสียงบอกคนขับ เพราะรถไม่สามารถขับต่อไปได้ ถนนมีแต่หลุมแต่บ่อ และคับแคบทุรกันดาร เพราะรถได้วิ่งออกนอกเส้นทาง หลงเข้าสู่ป่าและไม่มีบ้านผู้คน 

         เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างคับขัน ทุกคนต่างมีสีหน้าไม่ค่อยจะดี เพราะได้ยินกิติศัพท์มาว่า เหตุร้ายมักเกิดขึ้นได้เสมอบนดินแดนประเทศนี้ อย่างไรก็ตาม หลายๆคนจึงถือโอกาสลงไปปลดทุกข์ เมื่อลงจากรถไป นอกจากจะพบกับความมืดสนิทแล้ว บรรยากาศก็ชั่งวังเวง และเย็นยะเยือกไปถึงขั้วหัวใจ พวกเราจึงได้แผ่เมตตาออกไป เสร็จแล้ว คนขับรถก็หาทางกลับรถ หันไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องได้ในที่สุด คณะของพวกเราไปถึงวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ก็ปาเข้าไปเกือบเที่ยงคืน 

         ท่านทั้งหลาย เรื่องของเหตุการณ์ “รถหลงทาง” ในครั้งนี้ มิใช่เหตุบังเอิญ เพราะมาทราบในภายหลังว่า วิญญาณบรรพบุรุษของอุบาสิกาสำรวย ไตรแก้ว ดลให้หลงทางเข้าไปในดินแดนของพวกเขา เพื่อจะได้ขอส่วนบุญจากคณะของพวกเรา ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากคณะของพวกเรา ได้มาถึงวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ และได้อาบน้ำกันแล้ว บุรุษผู้หนึ่ง พร้อมกับอุบาสิกาสำรวย และคุณครูกี๋ ได้พากันไปนั่งภาวนาอยู่ข้างเจดีย์จนสว่าง เพื่อจะได้อุทิศบุญกุศลแก่ชาวโลกทิพย์โลกวิญญาณ ดั่งที่เคยปฏิบัติกันมา 

          อุบาสิกาสำรวย ได้เล่าให้ทุกคนฟังในภายหลังว่า ขณะที่ท่านนั่งภาวนาอยู่นั้น เมื่อจิตสงบและว่างลง จึงเห็นพญางูใหญ่กายเป็นสีทอง เลื้อยออกมาจากที่อยู่ใต้ต้นโพธิ์ข้างเจดีย์ พร้อมกับเข้ามาหาและบอกว่า ท่านคือบิดาของอุบาสิกาสำรวย ตั้งแต่เมื่อครั้งพุทธกาลของพระโกนาคมพุทธเจ้า และได้อาศัยอยู่ในเมืองนี้ ด้วยเหตุมีบุพกรรม จึงได้มาเฝ้ารักษาพระเจดีย์แห่งนี้ และรอคอยผู้มีบุญบารมีมาโปรด จึงจะพ้นทุกข์ได้ ส่วนการหลงทางนั้น พญางูเป็นผู้ดลให้คณะของพวกเราหลงทาง เพื่อเข้าไปโปรดญาติของพญางู ที่ตกค้างอยู่ในสถานที่แห่งนั้นด้วย และในตอนเช้า พญางูยังขอร้องให้อุบาสิกาสำรวย ได้โปรดไหว้ขอบคุณ คุณหน่อย และบุรุษผู้หนึ่ง ผู้พามาอินเดียในครั้งนี้ ด้วยความซาบซึ้งในบุญคุณ เมื่อทุกคนทราบเรื่องราวทั้งหมดแล้ว ต่างกล่าว สาธุ และปีติในบุญร่วมกันทุกประการ 



ภาวนารอบเจดีย์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา อินเดีย





ถวายผ้าป่าวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา อินเดีย




ณ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา อินเดีย



7. วิหารพุทธปรินิพพาน และมกุฏพันธนเจดีย์

          ท่านทั้งหลาย เมื่อตอนเช้าของวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 คณะผู้จาริกแสวงบุญ ได้ไปกราบสักการะสังเวชนียสถานแห่งที่ 4 คือ วิหารพุทธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา อินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่ทอดทิ้งพระวรกายของพระพุทธองค์ คณะของพวกเราได้เดินเวียนเทียนรอบพระพุทธปรินิพพานสามรอบ พร้อมกับได้อัญเชิญผ้าผืนใหญ่ห่มพระวรกายพระพุทธปรินิพพาน ตามความเชื่อและประเพณี ต่างคนต่างปีติยินดีในใจเป็นอัตโนมัติ จึงมิสามารถยกออกมาอธิบายได้ หลังจากนั้น จึงได้มุ่งเดินทางไปยังสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธองค์ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ที่อยู่ไม่ห่างไกลกันนัก






วิหารพุทธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา อินเดีย


         ท่านทั้งหลาย ณ มกุฏพันธนเจดีย์แห่งนี้ ขณะที่คณะพวกเราได้นั่งภาวนาสมาธิ ก็ได้เกิดเรื่องราวภายในบังเกิดขึ้นกับชาวคณะหลายท่าน และรับรู้คล้ายคลึงกัน เสมือนเป็นพยานซึ่งกันและกัน อาทิ บุรุษผู้หนึ่ง เมื่อเริ่มภาวนาสมาธิ ก็ปรากฏจิตรวมลงไปอย่างรวดเร็ว จิตนิ่งอยู่สักพัก จึงได้พิจารณาสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น พิจารณาความเกิดดับ พิจารณามรณานุสติ ยกเอาตัวอย่างพระสรีระของพระพุทธองค์ ก็ยังถูกเพลิงเผลาไหม้ จึงไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้ และไม่มีตัวตนให้ยึดถือ เมื่อร่างกายสังขารตายไปแล้ว แม้จะถูกเปลวไฟอันร้อนระอุ แต่ร่างกายสังขารนั้น ก็ไม่รู้สึกรู้สากับความร้อนนั้น ได้แต่มอดไหม้ไปกับเปลวเพลิง แล้วเราจะยังหลงยึดติดในตัวตนไปอีกทำไม พิจารณาอยู่ไม่นาน พลันก็ปรากฏจิตสว่างไสวขึ้น จิตก็สงบเยือกเย็น ใครจะรู้เห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม เราก็ไม่ยินดียินร้ายในสภาวะนี้ เพราะมันเป็นอนัตตา ไม่นานพระครูก็ให้สัญญาณออกจากสมาธิ ก็เป็นอันสิ้นสุดวาระลง

          ส่วนท่านอื่นๆ ทั้งอุบาสิกาสำรวย ครูกี๋ และพระครูศรีนิคมพิทักษ์ รวมทั้งพระมหา ท่านก็รู้สึกถึงความสงบ และเกิดความสว่างเช่นกัน เมื่อสอบถามกันไปมาแล้ว ก็ได้รับคำตอบอันเป็นที่น่าปีติยินดี สมกับได้ดั้นด้นมากราบสักการะบูชาสังเวชนียสถาน สถานที่อันเป็นมงคลสูงสุด จึงนับเป็นกำลังใจให้พวกเรา ได้เพียรสร้างคุณงามความดี ตามรอยบาทของพระศาสดาต่อไป




มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา อินเดีย


8. นิทานธรรมเสมือนจริง
"ธรรมปฏิบัติ ณ ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล"

          ท่านทั้งหลาย ราวเที่ยงของวันที่ 23 มีนาคม 2557 คณะของพวกเราออกเดินทางจากเมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย มุ่งสู่เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล โดยรถโดยสารปรับอากาศ ใช้เวลาประมาณ 11 ชั่วโมงก็ไปถึง อย่างไรก็ตาม ก่อนที่คณะของเราจะออกจากประเทศอินเดีย พวกเราต้องหยุดพักรับประทานอาหารว่าง ที่วัดไทยนวราชรัตนราม 960 ที่นี่มีโรตี "อารีดอย" ที่ "อร่อยดี" หลังจากนั้น พวกเราได้เดินทางต่อไปยังเมืองลุมพินี ประเทศเนปาล ไปถึงที่นั่นราวๆสามทุ่ม เมื่ออาบน้ำชำระร่างกายเสร็จแล้ว บุรุษผู้หนึ่ง อุบาสิกาสำรวย ไตรแก้ว คุณครูปุญญัสสิกา กองเงินนอก และคุณสมฤดี สิปปภากุล ได้ไปเดินจงกรม และนั่งภาวนาในบริเวณรอบพระอุโบสถ การภาวนาในสถานที่แห่งนี้ ก็สงบดี จิตก็รวมลงเร็ว พวกวิญญาณก็เสมือนพากันมามาก หมาป่าที่ชุกชุมได้เห่าหอนอยู่รอบบริเวณวัดเป็นช่วงๆ เมื่อพวกเราแผ่เมตตาก็เงียบไป  แต่พวกเราก็ได้ภาวนากันอยู่ไม่นาน เนื่องด้วยแขกยามส่องไฟรบกวนตลอดเวลา พวกเราจึงต้องกลับมาภาวนากันต่อในห้องนอน เรื่องราวที่วัดแห่งนี้ จึงต้องยุติลงแต่เพียงเท่านี้





ณ วัดไทยลุมพินี เนปาล


         ต่อมา ในช่วงเช้าของวันที่ 24 มีนาคม 2557 คณะของพวกเราได้ไปกราบสักการะสังเวชนียสถานแห่งที่ 1 คือ สวนลุมพินีวัน เมืองสิทธารัตถะ ประเทศเนปาล ที่อยู่ไม่ไกลจากวัดไทยลุมพินีมากนัก เมื่อไปถึงมหาสังฆารามอนุสรณ์แล้ว พวกเราได้เข้าไปชม และเวียนเทียนพร้อมกับสวดมนต์รอบสถานที่ประสูติ ซึ่งอยู่ภายในมายาเทวีวิหาร ทุกคนต่างปีติยินดีเป็นล้นพ้น พลังอันแสนอบอุ่นแต่นุ่มเย็นสบายแผ่ซ่านเข้าสู่ภายในกาย ใจก็สดชื่นเบิกบาน เมื่อจิตโน้มถึงพระพุทธองค์ พลันน้ำตาก็หลั่งไหลออกมาเป็นอัตโนมัติ ชั่งอัศจรรย์จริงหนอ ใครที่ได้ไปในสถานที่แห่งนี้มาแล้ว ต่างก็โจษขานกันว่า ใครไม่ร้องไห้ปีติยินดีเป็นไม่มี ข้อนี้จึงได้รับการพิสูจน์ว่า เป็นจริงตามนั้น หลังจากนั้น พวกเราก็ออกมานั่งสวดมนต์ และนั่งภาวนาสมาธิอยู่ด้านนอกวิหาร ตรงเสาหินของพระเจ้าอโศกมหาราช จึงจบวาระบุญ ณ สถานที่แห่งนี้ แต่เพียงเท่านี้







ณ มายาเทวีวิหาร สวนลุมพินีวัน ประเทศเนปาล


9. นิทานธรรมเสมือนจริง
"อัศจรรย์สภาวธรรม ณ วัดเชตวันมหาวิหาร"

         ท่านทั้งหลาย นิทานธรรมเรื่องนี้ สมมุติว่า เกิดขึ้นเมื่อตอนสายของวันที่ 24 มีนาคม 2557 หลังจากคณะจาริกแสวงบุญของพวกเรา ได้ไปกราบสักการะสังเวชนียสถานแห่งที่ 1 คือ สถานที่ประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ สวนลุมพินีวัน ประเทศเนปาลแล้ว ชาวคณะได้ย้อนกลับมุ่งหน้ามาสู่เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดียอีกครั้ง ใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมงก็มาถึงเมืองสาวัตถี ราว 5 โมงเย็น โดยมุ่งหน้าไปชมบ้านของอนาถปิณฑิกเศรษฐี และบ้านบิดาขององคุลีมาลย์ ที่อยู่ติดกัน เสร็จแล้วได้แวะชมสถูป ซึ่งเป็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดา ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในพรรษาที่ 7 หลังจากนั้น จึงได้เข้าพักที่วัดไทยเชตวันมหาวิหาร 

         ค่ำคืนนี้ บุรุษผู้หนึ่ง อุบาสิกาสำรวย ไตรแก้ว คุณครูปุญญัสสิกา กองเงินนอก และคุณสมฤดี สิปปภากุล ได้มาภาวนาอยู่ในศาลาจนสว่าง อุบาสิกาสำรวยบอกว่า คืนนี้ก็มีชาววิญญาณมาขอส่วนบุญพอควร พวกเราก็ได้แผ่เมตตาไปตามที่เคยปฏิบัติมาเป็นประจำ การภาวนาในค่ำคืนนี้ ก็สงบบ้าง ไม่สงบบ้าง เพราะสถานที่ไม่ค่อยอำนวยต่อการภาวนา เพราะวัดกำลังอยู่ในช่วงการก่อสร้าง




ณ บ้านของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี เมืองสาวัตถี อินเดีย



ณ บ้านบิดาของท่านองคุลีมาลย์ เมืองสาวัตถี อินเดีย



ณ วัดไทยเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี อินเดีย


         ต่อมา ในตอนเช้าของวันที่ 25 มีนาคม 2557 คณะของเราได้เดินทางไปกราบสักการะพระมูลคันธกุฎี วัดเชตวันมหาวิหาร ซึ่งเป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ยาวนานถึง 19 พรรษา รวมทั้งได้เที่ยวชมสถานที่สำคัญ ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณวัดที่ใหญ่โต อาทิเช่น กุฏิของพระอัครสาวกซ้ายขวา กุฏิพระอานนท์ และมีกุฏิพระสาวกอีกจำนวนมาก กระจายอยู่รายล้อมพระมูลคันธกุฎี รวมทั้งต้นศรีมหาโพธิ์ ที่พระอานนท์นำมาปลูกไว้ หลังจากนั้น หลายๆคนได้ขึ้นไปสวดมนต์และนั่งสมาธิบนพระมูลคันธกุฎี ส่วนอุบาสิกาสำรวย ไตรแก้ว และคุณครูปุญญัสสิกา กองเงินนอก ได้ไปนั่งภาวนาอยู่บริเวณลานด้านหน้าของพระมูลคันธกุฎี 

         ส่วนบุรุษผู้หนึ่ง ได้อาศัยยืนภาวนาอยู่ข้างล่าง ซึ่งอยู่ด้านข้างของพระมูลคันธกุฎี เหตุที่ไม่ขึ้นไปบนพระมูลคันธกุฎี อันเป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ ก็เพราะตระหนักถึงความไม่สมควร ที่จะขึ้นไปบนที่ประทับนั้น เพราะเป็นเรื่องที่นักภาวนาต้องพึงระวังในเรื่องของความไม่เหมาะสม เพราะเราเคารพพระพุทธองค์ เราก็ต้องเคารพในสถานที่ของพระพุทธองค์ด้วย จึงไม่สมควรที่จะขึ้นไปเหยียบย่ำบนสถานที่ประทับของพระพุทธองค์ อันนี้ แล้วแต่ใครจะพิจารณาเห็นเป็นอย่างไร ก็ว่ากันไป 




ณ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี อินเดีย


          อย่างไรก็ตาม ขณะที่บุรุษผู้หนึ่ง เดินพิจารณาด้วยอาการสำรวม ผ่านมาทางด้านหลังของพระมูลคันธกุฎี ก็ได้ปรากฏเม็ดน้ำขนาดใหญ่หล่นใส่ศรีษะอย่างจัง รู้สึกเย็นวาบเข้าไปถึงข้างใน จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก เพราะอากาศตอนแปดโมงเช้าก็แจ่มใสดี และมีแดดส่องจัดจ้า ไม่มีเมฆหมอก ไม่มีสายน้ำ ไม่มีการฉีดน้ำใดๆทั้งสิ้น จึงประหนึ่งว่า ฟ้าได้ปะพรมน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ลงมาให้ ใจจึงรู้สึกปีติ และระลึกถึงบุญคุณของพระพุทธเจ้ามิมีประมาณ จิตจึงอธิษฐาน ขอยืนภาวนาอยู่ข้างพระมูลคันธกุฎีนั้นทันที ไม่นานจิตเข้าสู่สภาวะอันสงบ จิตสว่างอยู่นาน จิตระลึกถึงคุณครูอาจารย์คือ หลวงพ่อฉลวย อาภาธโร พระผู้พ้นแล้วแห่งวัดโคกปราสาท พลันคลื่นปีติก็แผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย เมื่อใจรู้เห็นเป็นปัจจัตตังแล้ว จึงละวางอาการนั้นลง


บริเวณต้นโพธิ์พระอานนท์ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี อินเดีย


         เมื่ออกจากสมาธิแล้ว ก็ทราบว่า อุบาสิกาสำรวย ไตรแก้ว ก็มีสภาวะสว่างไสว ช่วงหนึ่งท่านเห็นหลวงพ่อฉลวย อาภาธโร พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแห่งวัดโคกปราสาท มาปรากฏกายให้เห็น เช่นเดียวกันกับคุณครูปุญญัสสิกา กองเงินนอก เธอก็เห็นแสงสว่างไสวสีทอง พร้อมกับเห็นหลวงพ่อฉลวย มาปรากฏกายให้เห็นอยู่นาน ต่างก็ปีติยินดี เมื่อพวกเรากลับมาเมืองไทยแล้ว อุบาสิกาสำรวยได้กราบถามหลวงพ่อ ท่านก็บอกว่า "หลวงพ่อก็ไปดูแลอยู่ทุกวันนั้นล่ะ อินเดียอยู่ใกล้นิดเดียว" นั่นจึงเป็นความเมตตาของหลวงพ่อ ที่มีต่อลูกศิษย์มิมีประมาณ 


วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี อินเดีย


10. นิทานธรรมเสมือนจริง
"แผ่เมตตา ณ แม่น้ำคงคา"

         ท่านทั้งหลาย นิทานธรรมเรื่องนี้ สมมุติว่า เกิดขึ้นเมื่อตอนสายของวันที่ 25 มีนาคม 2557 คณะของผู้จาริกแสวงบุญได้ออกเดินทางจากเมืองสาวัตถี มุ่งหน้าสู่เมืองพาราณสี ผ่านความพลุกพล่านของผู้คน และถนนที่ลำบากเป็นเวลาหลายชั่วโมง การเดินทางในวันนี้ ก็ยังเหมือนทุกวันคือ มีการบรรยายเรื่องราวของเมืองที่เราจะไป สลับกับการบรรยายชีวิตความเป็นอยู่ ศาสนา นักบวช และวัฒนธรรมของชาวอินเดีย โดยเฉพาะเรื่องราวของพวกฤาษีและชีเปลือยนั้น บรรดาสุภาพสตรี ต่างให้ความสนใจเป็นพิเศษ และเป็นหัวข้อที่กล่าวถึงกันยาวนานที่สุด 

          อย่างไรก็ตาม ขณะเดินทางก่อนที่จะถึงเมืองพาราณสีเล็กน้อย "บุรุษผู้หนึ่ง" ได้เจริญภาวนาไปในตัว ปรากฏว่า เห็นภาพเทวดาแขก มายืนเข้าแถวรอทั้งสองฟากถนน บ้างก็ก้มลงกราบ เทวดาแขกก็แต่งกายแบบแขก แต่เป็นชุดที่หรูหราตามแบบฉบับของผู้ดี เมื่อถอนจากสมาธิแล้ว เขาจึงเอ่ยบอกญาติธรรมว่า วันนี้มีชาวโลกทิพย์มารอต้อนรับมากนะ ซึ่งหลายคนก็เห็นจริงเมื่อไปถึงแม่น้ำคงคาแล้ว พวกเราไปถึงที่นั่นเกือบสองทุ่ม จึงรีบลงเรือล่องแม่น้ำคงคาทันที



ณ แม่น้ำคงคา เมืองพาราณสี อินเดีย 


          "แม่น้ำคงคา" ว่ากันว่า เป็นแม่น้ำสายศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินเดีย เพราะเป็นสถานที่บูชาพระอาทิตย์ของชาวฮินดู และเป็นสถานที่เผาศพของชาวอินเดียมายาวนาน ซึ่งว่ากันว่า เปลวเพลิงสำหรับการเผาศพของชาวอินเดียนั้น มีสืบต่อกันมาตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาลจนกระทั่งปัจจุบัน โดยกองไฟที่เผาไม่เคยมอดเลยตลอดเวลา 4,000 ปี เมื่อไปถึง คณะของพวกเราได้ลงเรือล่องแม่น้ำคงคาทันที ท่ามกลางความมืดและบรรยากาศอันวังเวงและเย็นยะเยือก บางคนก็เห็นศพลอยน้ำมา บางคนเห็นแล้ว ก็ไม่กล้าพูดเพราะความกลัว 

           ส่วนบุรุษผู้หนึ่ง ได้นั่งภาวนาอยู่บนท้ายเรือ เพื่อพิจารณาความเป็นอนิจจัง และทุกขังของสัตว์โลก แม้แต่มหาเทพที่ว่าศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนวิญญาณและชาวมนุษย์ทั้งหลาย ก็ล้วนมีความทุกข์ไม่ต่างกัน พิจารณาเลยไปถึงความเชื่อของมนุษย์ที่ว่า แม่น้ำสายนี้ชั่งศักดิ์สิทธิ์เหลือเกิน แต่ในทางพุทธศาสนานั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นเรื่องของความเชื่อที่งมงาย เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลวงพ่อฉลวย อาภาธโร พระสุปฏิปันโนแห่งวัดโคกปราสาท ท่านก็เทศน์สอนลูกศิษย์เสมอว่า   "หากแม่น้ำคงคาศักดิ์สิทธิ์จริง ป่านนี้พวกกุ้งหอยปูปลาที่อยู่ในแม่น้ำคงคา ก็คงพ้นกรรมไปเกิดเป็นเทวดา หรือพ้นทุกข์ไปกันหมดแล้ว แต่นี่ก็ยังเห็นอยู่เต็มแม่น้ำเช่นเดิม" 




ณ แม่น้ำคงคา เมืองพาราณสี อินเดีย 


          ส่วนญาติธรรมท่านอื่นๆ บ้างก็ตั้งใจดูและตื่นเต้นกับสิ่งต่างๆ ตลอดเส้นทาง บ้างก็แผ่เมตตา บ้างก็ถ่ายภาพกันตามอัธยาศัย อุบาสิกาสำรวย ไตรแก้ว ท่านก็เห็นพวกเทวดาและวิญญาณมากันมาก ขณะเดียวกัน ปลัดจี๊ด (คุณไพลิน เขื่อนทา) ซึ่งเป็นปลัดเทศบาลนครตรัง ระดับ 9 และเป็นนักภาวนามายาวนานนับ 30 ปี ได้เล่าให้พวกเราฟังว่า มหาเทพชั้นสูงของแขก เป็นหัวหน้า มาคอยต้อนรับ และพยายามสื่อสารไปยังเธอ จนเกิดอาการปีติยินดี ปลัดจี๊ดยังเล่าต่อไปอีกว่า มหาเทพ พากันมาก้มกราบท่านอาจารย์อยู่ที่ท้ายเรือ  จึงเป็นอันว่า มีความปีติยินดีกันทุกฝ่าย ทั้งมนุษย์ เทพ และวิญญาณ จึงนับเป็นเรื่องที่แปลกอีกวาระหนึ่ง อันนี้ จึงพึงพิจารณากันเอาเอง 



ณ แม่น้ำคงคา เมืองพาราณสี อินเดีย


11. นิทานธรรมเสมือนจริง
"อัศจรรย์สภาวธรรม ณ ธัมเมกขสถูป"

         ท่านทั้งหลาย นิทานธรรมตอนนี้ สมมุติเริ่มต้นขึ้นหลังจากคณะผู้จาริกแสวงบุญจากเมืองไทย ได้กลับจากการล่องแม่น้ำคงคาแล้ว ก็มุ่งหน้าสู่เมืองสารนาถที่อยู่ไม่ห่างไกลเท่าใดนัก และได้เข้าพักค้างคืนที่วัดไทยสารนาถ พอตอนเช้าของวันที่ 26 มีนาคม 2557 ก็มีพิธีถวายผ้าป่าแก่วัดไทยสารนาถ หลังจากนั้น คณะของพวกเราก็มุ่งหน้าสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งเป็นสังเวชนียสถานแห่งที่ 3 และเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดง "ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร" อันเป็นปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก จนเกิดมีพระสังฆรัตนะเป็นครั้งแรก และบังเกิดเป็นพระรัตนตรัยครบทั้งสามองค์



ณ วัดไทยสารนาถ เมืองสารนาถ อินเดีย


สารนาถในสมัยพุทธกาล

          สารนาถในสมัยพุทธกาล เรียกกันว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แปลว่า ป่าอันยกให้แก่หมู่กวาง และเป็นที่ชุมนุมฤๅษี เป็นสถานที่สงบและเป็นที่ชุมนุมของเหล่าฤๅษีและนักพรตต่าง ๆ ที่มาบำเพ็ญตบะและโยคะเพื่อเข้าถึงพรหมัน (ตามความเชื่อในคัมภีร์อุปนิษัทของพรามหณ์) ทำให้เหล่าปัญจวัคคีย์ที่ปลีกตัวมาจากเจ้าชายสิทธัตถะ (ที่พระองค์หันมาเสวยอาหารและถูกปัญจวัคคีย์ดูถูกว่าไม่มีทางตรัสรู้) มาบำเพ็ญตบะที่นี่ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา เกิดในบริเวณที่ตั้งของ กลุ่มพุทธสถานสารนาถ ภายในอาณาบริเวณของป่าอิสิปตนมฤคทายวัน 9 กิโลเมตรเศษ ทางเหนือของเมืองพาราณสี (เมืองศูนย์กลางทางศาสนาของศาสนาฮินดู) รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน (หรือ แคว้นกาสี ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล) สารนาถ จัดเป็นพุทธสังเวชนียสถานแห่งที่ 3 (1 ใน 4 แห่งของชาวพุทธ) เหตุที่ได้ชื่อว่าสารนาถเนื่องมาจากสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่งแก่มหาชนทั้งหลาย (บ้างก็ว่ามาจากศัพท์ว่า สารงฺค+นารถ = ที่อยู่ของสัตว์จำพวกกวาง) [3] ภายในอาณาบริเวณสารนาถมี ธรรมเมกขสถูป เป็นพุทธสถานขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด เนื่องจากสันนิษฐานว่าบริเวณที่ตั้งของธรรมเมกขสถูป เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาประกาศพระสัจจธรรมเป็นครั้งแรกที่นี่ (วิกิพิเดีย สารานุกรมเสรี. 2557:ออนไลน์)

สารนาถหลังพุทธปรินิพพาน

          ประมาณ 300 กว่าปีต่อมาหลังพุทธกาล ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช กลุ่มสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมธรรมเทศนาและพระธรรมเทศนาอื่น ๆ แก่เบญจวัคคีย์ และหมู่คันธกุฎีของพระพุทธเจ้า ในบริเวณป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้รับการบูรณะและก่อสร้างศาสนสถานเพิ่มเติมครั้งใหญ่เพื่อถวายเป็นอนุสรณียสถานแก่พระพุทธเจ้า และกลุ่มพุทธสถานเหล่านี้ได้เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์คุปตะ (บันทึกของพระถังซำจั๋ง (Chinese traveler Hiuen-Tsang) ซึ่งได้จาริกมาราว พ.ศ. 1300 ได้บันทึกไว้ว่า "มีพระอยู่ประจำ 1,500 รูป มีพระสถูปสูงประมาณ 100 เมตร มีเสาศิลาจารึกรูปหัวสิงห์ และสิ่งอัศจรรย์มากมาย ฯลฯ") และได้ถูกทิ้งร้างไปเมื่อกษัตริย์โมกุลเข้าปกครองอินเดีย จนท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ชาวศรีลังกา ได้มาบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้ง และได้รับการบูรณะจากรัฐบาลอินเดียเรื่อยมา ทำให้สารนาถกลายเป็นจุดหมายปลายทางในการแสวงบุญที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาวพุทธทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน (วิกิพิเดีย สารานุกรมเสรี. 2557:ออนไลน์)



ธรรมเมกขสถูป เมืองสารนาถ อินเดีย


"สภาวธรรม 2557"
บังเกิดขึ้น ณ ธรรมเมกขสถูป

          เมื่อคณะของพวกเราไปถึง วิทยากรได้พาเดินชมสถานที่ภายในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่เหลือแต่ซากปรักหักพังตามกฏไตรลักษณ์ แต่ก็ยังเหลือร่องรอยแห่งความยิ่งใหญ่และเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต เมื่อคณะส่วนใหญ่กำลังฟังวิทยากรอธิบายถึงที่มาของเสาหินที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างไว้ บุรุษผู้หนึ่ง รวมทั้งอุบาสิกาสำรวย ไตรแก้ว คุณครูปุญญัสสิกา กองเงินนอก และคุณสมฤดี สิปปภากุล ได้ขอปลีกตัวออกไปเจริญภาวนาอยู่หลัง "ธรรมเมกขสถูป" เพราะเวลามีน้อย ก่อนที่หมู่คณะจะได้มารวมตัวกันสวดมนต์ และนั่งสมาธิด้วยกันอีกครั้ง สถานที่อันเป็นมงคลแห่งนี้ ก็ยังมีความเป็นมงคลอันสูงสุดมิเสื่อมคลาย ดังจะเห็นได้จากมีผู้เกิดสภาวธรรม ตามที่อุบาสิกาสำรวย ไตรแก้ว ได้เล่าให้ฟังว่า

          "ที่ธรรมเมกขสถูป สถานที่ปฐมเทศนา ก็เกิดสภาวธรรมอีก พอจิตรวมก็เริ่มเห็นมีพรมสีแดงปูพื้น มีพระอัครสาวกและสาวกเดินเรียงแถวมายาวพอประมาณ พอท่านมานั่งลงพื้น กลับกลายเป็นสีทองงามมากๆ ในโลกมนุษย์เราหาไม่มีเหมือน ท่านนั่งล้อมรอบพระพุทธองค์ จากนั้นก็มีพระสาวกของท่านองค์หนึ่ง ถือพานทองมีคัมภีร์ใบลานวางอยู่ในพาน เพื่อเขียนคำสอนของพระพุทธองค์ ที่พระพุทธองค์สอนด้วยวาจาที่ออกมาจากใจ เพราะพระองค์เห็นธรรมที่ใจ แล้วสาวกก็เขียนเป็นตัวอักษรลงบนใบลานคัมภีร์ ด้วยมือของมนุษย์ เพื่อเอามาทำเป็นพระไตรปิฎก ดูเหมือนว่าท่าน จะให้เรารู้ที่มาของพระไตรปิฎก แต่นานเข้าก็เลยถูกเติมแต่งไปบ้าง ภาพจบไปพักหนึ่ง พระครูก็พาออกจากสมาธิ" (สำรวย ไตรแก้ว. 2557:บันทึกส่วนตัว)

         นอกจากนั้น คุณสมฤดี สิปปภากุล ก็ได้เกิดสภาวธรรม ดังที่เธอเล่าให้ฟังว่า "เมื่อคณะของข้าพเจ้า ได้พามานั่งภาวนาที่  “ธรรมเมกขสถูป” พอข้าพเจ้าหลับตาลงภาวนา ข้าพเจ้าก็เห็นแต่สีแดง สีส้ม แล้วก็ค่อยๆจางลง กลายเป็นสีเหลืองทอง  สว่างไสว  และมีสิ่งหนึ่งที่แวบเข้ามา  ข้าพเจ้าเห็นพระสงฆ์ 5 รูป  นั่งหันหลังให้ข้าพเจ้า  เหมือนท่านนั่งฟังธรรมอยู่  ท่านนั่งห่างกันเล็กน้อย  ท่านไม่ได้นั่งชิดกัน  สถานที่นั้นมีต้นไม้ร่มรื่น ร่มเย็น ใสเหมือนกับข้าพเจ้ามองผ่านตู้กระจกเข้าไป  ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า พระสงฆ์เหล่านั้นคือใคร  เพราะความโง่เขลาของข้าพเจ้า  ข้าพเจ้ามาเล่าให้ท่าน ดร. ฟัง ท่าน ดร.บอกว่า   พระสงฆ์ทั้ง 5 คือ  พระปัญจวัคคีย์ทั้งห้า  ที่มาฟังธรรมพระพุทธองค์เป็นครั้งแรก  เพราะปัญญาของข้าพเจ้าด้อยนัก จึงไม่รู้หรอกว่า ท่านเป็นใคร" (สมฤดี สิปปภากุล. 2557:บันทึกส่วนตัว)



ณ ธรรมเมกขสถูป เมืองสารนาถ อินเดีย


         ขณะเดียวกัน บางคนสวดมนต์ไปก็ร้องไห้ไป ต่างเป็นไปโดยอัตโนมัติ ชั่งอัศจรรย์จริงหนอ ต่อมาพระครูศรีนิคมพิทักษ์ ได้พาคณะเดินเวียนเทียนรอบธรรมเมกขสถูป หลังจากนั้น ก็ได้เข้าไปชมพิพิธภัณฑ์เมืองสารนาถที่อยู่ติดกัน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีพระพุทธรูปปางสารนาถที่สวยงามที่สุดในโลก และเสาหินรูปสิงห์ที่สมบูรณ์และสวยงามมากที่สุด ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราช ได้สร้างไว้เป็นอนุสรณ์แด่พระพุทธศาสนาเมื่อครั้งอดีตกาล รวมทั้งโบราณวัตถุอีกมากมาย หลังจากนั้น ก็ได้แวะชมสถูป "เจาคันธีสถูป" ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ได้พบกับเหล่าปัญจวัคคีย์อีกครั้ง ก่อนที่จะมีการแสดงปฐมเทศนาในเวลาต่อมา จึงเป็นการจบวาระบุญที่สังเวชนียสถานแห่งที่ 3 ลงแต่เพียงเท่านี้


พระพุทธรูปปางสารนาถที่สวยงามมากที่สุดในโลก (วิกิพีเดีย สารรานุกรมเสรี. 2557 : ออนไลน์)



เสารูปหัวสิงห์ (วิกิพีเดีย สารรานุกรมเสรี. 2557 : ออนไลน์)



เจาคันธีสถูป เมืองสารนาถ อินเดีย



12. นิทานธรรมเสมือนจริง
"อัศจรรย์สภาวธรรม ณ พุทธคยา"

         นิทานธรรมตอนนี้ สมมุติเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 26-29 มีนาคม 2557 ณ สังเวชนียสถานแห่งที่ 2 ที่เรียกกันว่า พุทธคยา (Bodh Gaya) ปัจจุบันอยู่ในอำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มพุทธสถานที่มีความสำคัญที่สุด 1 ใน 4 แห่ง ของชาวพุทธ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจุบันบริเวณพุทธศาสนสถานแห่งนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดมหาโพธิ ซึ่งอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วม พุทธ-ฮินดู และถือว่ามีความสำคัญมากที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก

         พุทธคยา ปัจจุบันตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ไกลจากฝั่งแม่น้ำประมาณ 350 เมตร (นับจากพระแท่นวัชรอาสน์) พุทธคยามีสัญลักษณ์ที่สำคัญคือ องค์เจดีย์สี่เหลี่ยมที่สูงใหญ่ โดยสูงถึง 51 เมตร ฐานวัดโดยรอบได้ 121.29 เมตร ล้อมรอบด้วยโบราณวัตถุ โบราณสถานสำคัญ เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระแท่นวัชรอาสน์ ที่ประทับตรัสรู้ และอนิมิสสเจดีย์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากพุทธสถานโบราณแล้ว บริเวณโดยรอบพุทธคยายังเป็นที่ตั้งของวัดพุทธนานาชาติ รวมทั้งวัดไทยคือ วัดไทยพุทธคยา สำหรับชาวพุทธ พุทธคยา นับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของนักแสวงบุญชาวพุทธทั่วโลก ที่ต้องการมาสักการะสังเวชนียสถานสำคัญ 1 ใน 4 แห่งของพระพุทธศาสนา โดยในปี พ.ศ. 2545 วัดมหาโพธิ (พุทธคยา) สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ขององค์การยูเนสโก (วิกิพิเดีย สารานุกรมเสรี. 2557:ออนไลน์)

         ท่านทั้งหลาย คณะผู้จาริกแสวงบุญจากเมืองไทย ได้ดั้นด้นมากราบบูชาพระพุทธองค์ ถึงดินแดนแห่งพระพุทธภูมิ อันเป็นสถานที่แห่งสุดท้ายในวาระบุญครั้งนี้ โดยการออกเดินทางด้วยรถปรับอากาศ จากเมืองสารนาถ ตั้งแต่ตอนสายของวันที่ 26 มีนาคม 2557 มาถึงพุทธคยาเอาราวๆ ห้าโมงเย็น พวกเราได้รีบไปยัง “พระมหาโพธิเจดีย์” และ “ต้นศรีมหาโพธิ์” อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทันที และได้ร่วมกันสวดมนต์ภาวนาสมาธิ อยู่ใกล้บริเวณต้นศรีมหาโพธิ์ จนถึงเวลาเกือบสามทุ่ม (ปิดสามทุ่ม) เสร็จแล้ว จึงได้ย้อนกลับมาพักที่วัดไทยพุทธคยา ที่อยู่ไม่ไกลนัก

         หลังจากได้อาบน้ำชำระร่างกายแล้ว บุรุษผู้หนึ่ง อุบาสิกาสำรวย ไตรแก้ว และคุณครูปุญญัสสิกา กองเงินนอก ได้ตั้งใจและอธิษฐานจิต ขอเจริญภาวนากัมมัฏฐาน โดยไม่ขอนอนตลอดทั้งสามคืน  หากนอนก็เป็นการนอนในขณะนั่งรถไปชมสถานที่ต่างๆ ในช่วงกลางวัน แต่เป็นชั่วครั้งชั่วคราว หรือเป็นการพักในสมาธิเท่านั้น ส่วนนักภาวนาผู้หนึ่ง ได้เกิดสภาวะจิตตื่นเบิกบาน จึงแทบไม่หลับไม่นอนตลอดทั้งสามวันสามคืน โดยช่วงเวลากลางคืน ได้อาศัยสถานที่บริเวณรอบอุโบสถ วัดไทยพุทธคยาเป็นที่ภาวนา ส่วนกลางวันและหัวค่ำ ได้ไปอาศัยภายในบริเวณต้นศรีมหาโพธิ์ เป็นที่ภาวนา





พระมหาโพธิเจดีย์ พุทธคยา อินเดีย


สภาวธรรมบังเกิดขึ้น ณ วัดไทยพุทธคยา

          ท่านทั้งหลาย ในเวลากลางคืน บุรุษและสตรีผู้เป็นนักภาวนา ได้พากันมาอาศัยบริเวณด้านข้าง และด้านหลังของพระอุโบสถวัดไทยพุทธคยา เป็นที่ภาวนา ทั้งการเดินจงกรม ยืน นั่ง และนอนภาวนาตลอดทั้งสามคืน การภาวนาในตอนดึกของค่ำคืนแรก ปรากฏมีเสียงสุนัขเห่าหอนรับกันเป็นช่วงๆ ไปรอบบริเวณวัด เสียงเห่าหอนดูน่าวังเวงและเย็นยะเยือก อุบาสิกาสำรวย ไตรแก้ว เล่าให้ฟังพอสรุปได้ว่า ชาวโลกทิพย์และโลกวิญญาณ พากันมาขอส่วนบุญจำนวนมาก เปรตอสูรกายก็มี บาทหลวงท่านหนึ่งก็เข้ามาหา มาสนทนาและสอบถามว่า พวกท่านมาทำอะไร เขาเป็นบาทหลวงเคยอยู่ในบริเวณนี้มานานแล้ว อุบาสิกาจึงบอกว่า เรามาภาวนาเพื่อหาทางพ้นทุกข์ เมื่อเขาเข้าใจ อุบาสิกาจึงได้แผ่เมตตาไป เมื่อได้บุญกันถ้วนทั่ว เสียงต่างๆ ก็เงียบหายไป 

          อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าปีติยินดี ที่ทราบว่า หลวงพ่อแห่งวัดโคกปราสาท ท่านได้มาดูแลและให้กำลังใจลูกศิษย์ ผู้กำลังเพียรภาวนาถึงอินเดีย ซึ่งรับรู้เห็นกันภายในเป็นปัจจัตตัง ซึ่งก็ได้รับการยืนยันในภายหลังว่า หลวงพ่อก็มาดูแลจริงๆ 

          ส่วนบุรุษผู้หนึ่ง ขณะนอนภาวนาในช่วงบ่าย ภาวนาได้ไม่กี่นาทีจิตก็สงบลง ใจก็เห็นภาพเทพธิดาชาวแขก มานั่งคลุกเข่าต่อหน้า พร้อมกับน้อมถวายปัจจัยเป็นเงินรูปีจำนวนหนึ่ง นักภาวนาผู้นี้พิจารณาว่า “ท่านให้เราทำไม เรามาที่นี่เพื่อเป็นผู้ให้ มิใช่เป็นผู้มารับ” แต่เมื่อเธอยื่นเงินนั้นมาให้ เขาจึงรับไว้ พร้อมกับถอนจิตออกมา เพราะได้เวลานัดหมาย ที่จะไปภาวนาที่ต้นศรีมหาโพธิ์  และเรื่องราวก็มาเกิดขึ้นจริง ในตอนภาวนาที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ คือ หลังจากบุรุษผู้นี้ออกจากสมาธิแล้ว ก็เห็นมีใบธนบัตรเงินรูปี 1 ใบ วางไว้หน้าตัก เมื่อญาติธรรมเห็น ต่างก็นำเงินมาทำบุญกับนักภาวนาผู้นี้ อีกจำนวนหนึ่ง หรือเทวธิดาแขกนำเงินมาทำบุญ ตามที่ได้สื่อสารมากระมัง





พระเทพโพธิวิเทศ (ว.ป. วีรยุทโธ) ณ วัดไทยพุทธคยา อินเดีย 28 มีนาคม 2557  



เยี่ยมชมบ้านนางสุชาดา
และสถานที่บำเพ็ญทุกรกิริยาของพระพุทธองค์


         ในช่วงสายของวันที่ 27 มีนาคม 2557 คณะพวกเราได้ไปชมบริเวณบ้านของนางสุชาดา นางผู้ถวายข้าวมธุปายาส ก่อนที่พระพุทธองค์จะได้ตรัสรู้ ซึ่งอยู่ฟากแม่น้ำเนรัญชราที่แห้งผากอีกฝั่งหนึ่ง ต่อมาในภายหลัง ได้มีผู้สร้างอาคารคล้ายสถูปเป็นสถานอนุสรณ์ว่า บริเวณนี้ คือ บ้านของนางสุชาดา และถัดไปไม่กี่ร้อยเมตร มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ ว่ากันว่า เป็นต้นไทรที่นางสุชาดา ได้ถวายข้าวมธุปายาสแด่พระพุทธองค์ จากที่นั่น สามารถมองเห็นยอดพระมหาโพธิเจดีย์ พุทธคยา ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามได้ชัดเจนพอประมาณ 

         หลังจากนั้น คณะของพวกเรา ได้เดินทางต่อไปยังภูเขาดงคสิริ ซึ่งเป็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ก่อนที่จะเลิก แล้วเสด็จมายังต้นไทร ที่อยู่ไม่ห่างไกลจากบ้านนางสุชาดามากนัก จากบ้านนางสุชาดา สามารถมองเห็นยอดภูเขาดงคสิริอยู่ริบๆ  ตลอดเส้นทางเรียบแม่น้ำเนรัญชรา พวกเราเห็นสภาพบ้านเมืองและภูมิประเทศแล้ว ให้นึกย้อนหลังไปถึงเหล่าฤาษีและชฎิลสามพี่น้อง ที่พระพุทธองค์ได้เสด็จไปโปรด จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งพันองค์ เมื่อไปถึงตีนภูเขาดงคสิริแล้ว พวกเราก็ไม่ได้ขึ้นไปถึงถ้ำ ที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา เพราะมีเวลาน้อย ได้แต่ตั้งใจไว้ว่า เราจะมาอีกสักครั้ง





บริเวณบ้านนางสุชาดา พุทธคยา อินเดีย



แม่น้ำเนรัญชรา มองจากต้นไทรที่นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสแด่พระพุทธองค์




ต้นไทรที่นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสแด่พระพุทธองค์



ภูเขาดงคสิริ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ใกล้พุทธคยา สถานที่บำเพ็ญทุกรกิริยาของพระพุทธองค์



สภาวธรรมบังเกิดขึ้นใต้ต้นศรีมหาโพธิ์

           ท่านทั้งหลาย ณ มณฑลพุทธคยา อินเดีย สถานที่อันเป็นมหามงคลสูงสุดในโลกมนุษย์แห่งนี้ ก็ยังคงความเป็นมหามงคลมิเสื่อมคลาย ผู้คนต่างหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ แม้จะต่างชาติ ต่างภาษา และต่างนิกายกันบ้าง แต่ทุกคนที่มุ่งหน้าไปยังสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธศาสดา ต่างก็ล้วนเป็นบุตรของพระพุทธเจ้า มีใจหนึ่งเดียวกันคือ เพื่อไปกราบพระพุทธองค์ ไปด้วยความศรัทธา ด้วยความบริสุทธิ์แห่งจิตใจแทบไม่ต่างกัน บรรยากาศแม้จะพลุกพล่านไปด้วยผู้คน ต่างหาโอกาสได้เข้าไปใกล้ชิดต้นศรีมหาโพธิ์ บ้างก็เบียดกันเข้าไปกราบไหว้พระพุทธเมตตา ที่อยู่ภายในพระมหาโพธิเจดีย์ บ้างก็เดินเวียนรอบพระมหาโพธิเจดีย์ บ้างก็นั่งสวดมนต์หรือนั่งภาวนาสมาธิ คณะแล้วคณะเล่า ไม่มียื้อแย่งกัน แม้ภาษาสวดมนต์จะคนละภาษา อื้ออึงเพราะสวดในเวลาเดียวกัน แต่ก็สามารถสะกดจิตใจให้ผู้คนสงบได้ เพราะใจเข้าใกล้พระพุทธเจ้านั่นเอง เมื่อไปถึงแล้ว หลายๆคนก็ได้นั่งภาวนา ต่างก็มีความสงบและปีติสุขต่างกันไป บ้างก็เกิดธรรมอัศจรรย์ บ้างก็รู้เห็นเป็นปัจจัตตัง ดังนิทานธรรมต่อไปนี้



ต้นศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา อินเดีย


อัศจรรย์ "บุญปิดกั้นบาป"

           อีกเรื่องราวหนึ่ง ที่เกิดความอัศจรรย์ขึ้นในช่วงเวลา 16.00 น. วันที่ 27 มีนาคม 2557 กล่าวคือ ขณะที่ บุรุษผู้หนึ่ง และญาติธรรม ได้พากันไปนั่งภาวนาที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ เมื่อไปถึงแล้ว ญาติธรรมได้ขอตัวแยกไปซื้อผ้า "บุรุษผู้นี้" จึงได้เลือกนั่งภาวนาอยู่บริเวณกำแพงใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ แม้เสียงจะอื้ออึงไปด้วยผู้คนที่พลุกพล่าน แต่แปลกที่จิตรวมสงบลงอย่างรวดเร็ว จิตสว่างไสวนิ่งอยู่นาน เสียงทั้งหลายไม่ได้รบกวนสมาธิเลย มีแต่จิตที่เฝ้าดูอาการเกิดดับ สิ่งใดเคลื่อนเข้ามากระทบกายและใจก็รู้ นานเข้าจิตไม่สนใจกาย จิตเหลือแต่ "ผู้รู้" เมื่อจิตสงบตั้งมั่นดีแล้ว จิตพิจารณาทบทวนสิ่งที่รู้เห็นในประเทศอินเดีย จิตเห็นความทุกข์ของผู้คน ชั่งทุกข์ยากแสนเข็ญจริงหนอ รำพึงไป ใจก็สังเวชในสัตว์โลก ภาวนาไป ใจก็สว่างไสวตื่นเบิกบานอยู่นาน ราว 1 ชั่วโมง จิตจึงถอนตัวออกมา

           อย่างไรก็ตาม มีสิ่งแปลกประหลาดประการหนึ่งเกิดขึ้น กล่าวคือ ในขณะที่บุรุษผู้นี้ กำลังนั่งภาวนา ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับผู้เป็นภรรยา ได้พยายามเดินวนหานักภาวนาผู้นี้ ผ่านไปถึงสามรอบ ก็ไม่เห็นนักภาวนาผู้นี้ ทั้งๆที่บริเวณที่นั่งอยู่ อย่างไรเสีย ก็ต้องมองเห็น เพราะพื้นที่แคบ แม้เดินผ่านก็แทบจะเดินเตะเอา แต่นี่เธอก็ประหลาดใจไม่ใช่น้อย ว่ามันเกิดอะไรขึ้น

            ท่านทั้งหลาย เหตุการณ์นี้ เสมือนบุญปิดกั้นบาปไว้ ไม่ให้เธอเห็น มิเช่นนั้น เธออาจเกิดกรรมหนักได้ เพราะการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด จะสามารถเข้าสู่ความสงบอันสว่างไสว และอยู่ในช่วงพิจารณาธรรม จึงมิใช่สภาวะที่จะทำกันได้ง่าย และมิใช่จะทำได้ตลอดเวลา เพราะสภาวธรรมนั้น เป็นอกาลิโก จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกาลอันควร และหากเธอไปเห็นบุรุษผู้นี้เข้า แล้วปลุกให้เขาออกจากสมาธิ แม้จะไม่มีเจตนาก็ตาม แต่กรรมนั้นก็หนักหนามาก ดังนั้น ท่านจึงให้พึงระวังสำรวมเป็นที่สุด


บริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์ และพระมหาโพธิเจดีย์ พุทธคยา อินเดีย


เสียงพระธรรมดังกังวาน

            เมื่อออกจากสมาธิ และได้พบกับเธอผู้ที่ตามหาแล้ว ทั้งสองจึงได้ย้ายไปนั่งภาวนาอยู่ใต้ต้นโพธิ์อีกต้น ที่อยู่ในบริเวณใกล้กัน พร้อมกับบรรยากาศก็เริ่มมืดลง แต่เป็นที่น่าอัศจรรย์ เพราะบุรุษผู้นี้ ก็ยังมีสภาวะที่ต่อเนื่อง มีสติรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก พร้อมกับพิจารณาการเกิดดับของสิ่งที่เข้ามากระทบ ท่ามกลางเสียงดังอื้ออึงเช่นเดิม บางช่วงจิตก็พิจารณาเสียงที่เข้ามา เกิดๆดับๆ ไม่มีอะไรเที่ยงสักอย่าง เสียงก็เป็นแต่ธรรมชาติภายนอก มันไม่รู้ว่ามันคือเสียง มันไม่รู้ว่าจะมีผู้ใดรำคาญ หรือยินดียินร้ายในเสียงนั้น มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น พิจารณาอยู่ไม่นานจิตก็สงบลง ใจสว่างขึ้น เสียงแม้จะยังได้ยินอยู่ แต่ก็ไม่รู้สึกรำคาญแต่อย่างใด และในที่สุดเสียงผู้คนก็เงียบเบาลงจนแทบไม่ได้ยิน เมื่อจิตสงบ ใจก็ผุดย้อนไปพิจารณาเห็นความทุกข์ของผู้คนทั้งในดินแดนภารตะนี้ และคนทั้งโลก แม้จะเป็นพรหมเทวา แลสรรพวิญญาณทั้งหลาย ก็ล้วนตกอยู่ในกองทุกข์ทั้งนั้น

           พิจารณาอยู่ไม่นาน ก็ปรากฏมีเสียงสุนัขตัวหนึ่ง ถูกแขกยามทำร้ายจนร้องดังโหยหวน ท่ามกลางเสียงนกและสัตว์นานา ต่างร้องกระหึ่มกังวานขึ้นมาพร้อมกัน อย่างไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาก่อน ดุจดังเสียงแหวกร้องโหยหวนของสัตว์ทั้งโลก และประหนึ่งเสียงร้องของสัตว์นรก กำลังขอความเมตตา ระคนปนกับการอนุโมทนา เสียงนั้นกระหึ่มก้องขึ้นภายในจิตใจ ดังขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางจิตที่ตั้งมั่นเด็ดเดี่ยว เสียงนั้นกลบเสียงสวดมนต์และเสียงอื่นไปสิ้นเชิง ดังก้องสุดเสียงสุดประมาณ เกินกว่าที่จะยกออกมาอธิบายได้ ประหนึ่งปานโลกจะแตก จิตเสมือนเห็นความทุกข์เข้าไปถึงหัวใจ ความทุกข์ของสัตว์โลกทั้งหลาย ทำไมจึงทุกข์จริงหนอ พลันจิตก็ได้ย้อนไปรำพึงรำพันถึงความทุกข์ของชาวภารตะอีก จึงเอ่ยรำพันว่า

            "ข้าแต่พระพุทธองค์ กรรมใดหนอ จึงทำให้พวกเขามาเกิดและรับกรรม อยู่ในดินแดนแห่งนี้"

           พลันก็มีเสียงพระธรรมปรากฏกังวานขึ้นว่า....

           “กรรมของสัตว์โลก เขาสร้างกรรมเวรกันขึ้นมาเอง แม้แต่พระตถาคตก็ช่วยสัตว์โลกเหล่านี้ไม่ได้ นอกจากเขาเอง เราตถาคต เป็นแต่ผู้ชี้ทางให้เท่านั้น”

           เสียงนี้ชั่งกังวานเด็ดเดี่ยว แต่แฝงไปด้วยความเมตตาแลไพเราะ นี้หรือเสียงพระธรรม หรือนี้คือเสียงของพระพุทธองค์ ที่ข้าพระพุทธเจ้ามิเคยได้ยินได้ฟังมาแต่กาลก่อน ชั่งอัศจรรย์จริงหนอ

           ท่านทั้งหลาย บุรุษผู้นี้ ก็ยังพิจารณาธรรมต่อไป ความทุกข์ที่เราเห็นอยู่นี้ ก็เป็นแต่เพียงความทุกข์ภายนอก มันเป็นความทุกข์ของผู้อื่นดอก แต่ความทุกข์ภายในนี้ต่างหาก ที่เราจักต้องค้นหา มิใช่ไปค้นหาภายนอกใจ จะค้นหาเท่าไรก็ไม่เจอแน่ เพราะใจของเราเป็นผู้สร้างกิเลสขึ้นมา จงค้นหาที่ใจของเราเถิด เพราะอวิชชาเป็นผู้ครอบครองหัวใจของเรา เมื่อพิจารณาย้อนมาที่หัวใจจนพอควร ใจจึงอธิษฐานว่า ข้าพระพุทธเจ้า จักเดินตามรอยบาทของพระพุทธองค์ แม้จะยากลำบากเพียงใดก็ตาม ข้าพระพุทธเจ้าก็จักดำเนินตาม จิตนั้นก็ตื่นเบิกบาน พลันก็เห็นภาพ "พระพุทธเมตตา" ที่ประดิษฐานอยู่ในพระมหาโพธิเจดีย์ด้านใน ปรากฏขึ้นมาเป็นองค์สีดำ จิตรู้ว่า ที่แท้เนื้อสีขององค์พระเดิมๆ เป็นหินสีดำ แต่มีผู้มาทาสีทองในภายหลัง

           "พระพุทธเมตตา" ท่านเมตตามาโปรดในญาณสมาธิ จึงเป็นกำลังใจให้เพียรต่อไป ออกจากสมาธิได้ ก็ปาเข้าไปเกือบสามทุ่ม จึงเป็นการจบวาระบุญนี้ลง อย่างบริบูรณ์อีกวาระหนึ่ง ...



พระพุทธเมตตา ที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระมหาโพธิเจดีย์ พุทธคยา อินเดีย


ธรรมสรุป

        บัดนี้ นิทานธรรมทั้ง 12 ตอน ได้จบลงตามเหตุอันควรแล้ว แม้หากมีส่วนใด พอจะเป็นประโยชน์บ้าง ก็ขออนุโมทนา แต่หากมีส่วนใดที่หาประโยชน์ใดๆมิได้ หรือมีแต่ความหลงปะปน ก็ขออโหสิกรรม ก็ขอให้เป็นแต่เพียงนิทานอ่านเล่น เพื่อความเพลิดเพลินเจริญใจ ก็พออนุโลมเป็นการให้กำลังใจซึ่งกันและกันได้ และท้ายสุด ก็ขอให้ผู้อ่านทุกท่าน จงมีความสุขความเจริญ สงบสุขร่มเย็น มั่งมีศรีสุข อายุมั่นขวัญยืน แลสว่างไสวทั้งทางโลกและทางธรรม จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งพระนิพพาน ทุกท่านเทอญ

         หมายเหตุ มีการตกแต่งและเรียบเรียงคำใหม่ และอาจสลับเหตุการณ์บ้าง เพราะความจำของผูเขียนไม่เที่ยง แต่ข้อความหลักยังคงอยู่ครบมากที่สุด

         ขอเจริญในธรรม
         ดร.นนต์  (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล)
         5 มิถุนาย 2557


อ้างอิง
1. ปุญญัสสิกา กองเงินนอก. 2557. จาริกแสวงบุญประเทศอินเดียและเนปาล. บันทึกส่วนตัว.
2. พระราชรัตนรังษี (ว.ป. วีรยุทโธ).2549. ร้อยมุมมองส่องอินเดีย. ราชอาณาจักรเนปาล : วัดไทยลุมพินี.
3. พระราชรัตนรังษี (ว.ป. วีรยุทโธ).2551. พูดนอกไมค์ในอินเดีย. ไม่ปรากฏสำนักพิมพ์.
4. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2557. ประเทศอินเดีย. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2557 จาก 
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2
5. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2557. พุทธคยา. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2557 จาก http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%84%E0%B8%A2%E0%B8%B2
6. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2557. สารนาถ. สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2557 จาก http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%96
7. สมฤดี สิปปภากุล. 2557. จาริกแสวงบุญประเทศอินเดียและเนปาล. บันทึกส่วนตัว.
8. สำรวย ไตรแก้ว. 2557. ไปอินเดียได้อะไร. บันทึกส่วนตัว




วาระที่ 2
ธรรมปฏิบัติสัญจร "อินเดีย"
1-10 พฤษภาคม 2558




"นิทานธรรม จากปัตจัตตังธรรม"

            ท่านทั้งหลาย เมื่อวันที่ 1 - 10 พฤษภาคม 2558 บุรุษผู้หนึ่งและคณะผู้ร่วมติดตามรวมทั้งหมด 10 ท่าน ได้เดินทางไปปฏิบัติธรรมสัญจร ณ ดินแดนพุทธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งในการไปในครั้งนี้ ได้มีเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องราวอัศจรรย์ที่เป็นปัตจัตตัง ได้บังเกิดขึ้นในหมู่คณะ ผู้เขียนจึงขอนำเอาเรื่องราวต่างๆ มาเล่าเป็น "นิทานธรรม" ซึ่งเป็นเรื่อง "เสมือนจริง" ที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ของนักภาวนา ซึ่งมิมีเจตนาจะให้ผู้ใดคิดว่า เป็นจริงเป็นจัง อีกทั้งมิมีเจตนาจะยกตัวตนผู้ใด ขึ้นมาให้ใครใหลหลง และขออย่าได้ยึดเอาเรื่องราวเหล่านี้ ไปเป็นครูอาจารย์ เพราะผู้เขียนก็ยังก็ยังเป็นผู้เรียนรู้อยู่ เพียงแต่นำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่กันและกันเท่านั้น ดังเรื่องราว "นิทานธรรม" ต่อไปนี้






1. "สภาวธรรมสองแม่ลูก"
บังเกิดขึ้นใต้ต้นศรีมหาโพธิ์

           ท่านทั้งหลาย ขอเริ่มต้นนิทานธรรมเรื่อง "ธรรมปฏิบัติสัญจร อินเดีย ครั้งที่ 2" ด้วยเรื่องราวที่บังเกิดขึ้น ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 2 พฤษภาคม 2558 ณ บริเวณใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ และพระมหาโพธิเจดีย์ แห่งเมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย กล่าวคือ คณะพวกเราได้ไปกราบพระพุทธเมตตา และเจริญภาวนาอยู่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ตั้งแต่ตีห้า  

           หลังจากออกจากสมาธิแล้ว สองแม่ลูกได้มาเล่าให้ฟังว่า "คุณจุ๋ม" ผู้เป็นแม่ เธอเห็นกายในของ "บุรุษผู้หนึ่ง" ด้วยตาเนื้อว่า กายเป็นพระ มีผิวกายสีทองสว่างไสว ขณะที่เขานั่งภาวนาอยู่ท่ามกลางพระพม่า หลังจากนั้น "น้องออม" ผู้เป็นบุตรสาว ได้เล่าให้ฟังว่า เธอเกิดญาณรู้เห็นบางอย่างขึ้นที่นี่ และก็เกิดรู้เห็นเรื่อยมา ส่วนคุณเป้า เธอก็เห็นพระพักตร์ และนิ้วพระหัตถ์อันงดงามของพระพุทธองค์ ณ ที่บริเวณใต้ต้นศรีมหาโพธิ์นี้เช่นกัน





2. "ธรรมปีติที่ดงคสิริ"

           ท่านทั้งหลาย เมื่อตอนสายของวันที่ 2 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา บุรุษผู้หนึ่งพร้อมคณะญาติธรรมรวมกัน 10 ท่าน มุ่งหน้าสู่ดินแดนบำเพ็ญทุกรกิริยาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ภูเขาดงคสิริ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมในอดีต ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์บำเพ็ญตนอย่างหนัก ก่อนที่จะตรัสรู้ สถานที่แห่งนี้ เมื่อปีที่แล้ว นักภาวนาผู้นี้ก็เคยมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ครั้งกระนั้นไม่ได้ขึ้นเขาไปยังสถานที่บำเพ็ญของพระพุทธองค์ เนื่องจากคณะทัวร์มีเวลาจำกัด เขาจึงอธิษฐานว่า จะมาเพื่อการบำเพ็ญภาวนาโดยเฉพาะอีกครั้ง เมื่อมาถึงแล้ว แม้หนทางขึ้นจะสูงชัน แต่พวกเราก็มุ่งมั่นเดินขึ้นไป ท่ามกลางแสงแดดร้อนจ้า 40 องศา แต่ก็เดินภาวนาฝ่าชนแขกขอทาน ไต่ระดับไปจนถึงถ้ำที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ถ้ำแห่งนี้แทรกอยู่หน้าผา มีขนาดเล็กราว 2 x 2.5 เมตร เพดานเตี้ย ปากถ้ำแคบ และมืดแทบมองไม่เห็น อากาศก็น้อยอุดอู้ จึงเหมาะสำหรับนักบำเพ็ญแบบทรมานกาย ปัจจุบัน ชาวทิเบตมาสร้างวัดไว้ติดกับปากถ้ำ จึงกลายเป็นสถานที่แสวงบุญสำหรับชาวพุทธอีกแห่งหนึ่ง









            เมื่อคณะพวกเราขึ้นไปถึงถ้ำแล้ว พวกเราได้เข้าไปกราบพระพุทธรูปปางทรมานกายที่อยู่ภายในถ้ำ หลังจากนั้น คณะของพวกเรา ได้ไต่หน้าผาขึ้นไปภาวนาข้างบนเหนือถ้ำขึ้นไปเล็กน้อย เพื่อถวายบูชาพระศาสดา และแผ่เมตตา  การมาภาวนาที่ภูเขาดงคสิริในวาระนี้ ได้รับความสงบแลปีติดี ลมอัศจรรย์ก็พัดหมุนติ้วมาในบริเวณที่พวกเรานั่ง เป็นระลอกๆ เสมือนเป็นลมจากผู้มีฤทธิ์เนรมิตให้ อากาศจึงเย็นสบาย แม้จะอยู่ในท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงมากกว่า 40 องศาก็ตาม 




            อย่างไรก็ตาม ขณะที่บุรุษผู้หนึ่ง ภาวนาจนจิตสงบลง พลันก็เกิดสภาวธรรมบางอย่าง ที่ยากจะอธิบายได้ ธรรมที่ผุดขึ้นมา ก็เพื่อให้พิจารณาว่า นักภาวนาและนักสร้างบุญทั้งหลาย "ต้องเป็นผู้ที่เสียสละความสุข" อันเป็นการทวนกระแสความสุขแบบโลกๆ ออกไปจากกายและใจเสียก่อน จึงจะสามารถก้าวไปในทางธรรมได้ ให้ดำเนินตามปฏิปทาที่พระพุทธองค์ได้ปฏิบัติให้ดูเป็นแบบอย่าง แม้ธรรมชาติจะร้อนจะหนาว หรือเย็นสบายก็อยู่ได้ หนทางจะยากลำบากก็ไปได้ จะเหนื่อยยากลำบากเพียงใด จะกินจะนอนอยู่ในที่ลำบากแค่ไหน ก็ทนได้ ไม่มีสิ่งใดมาเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติธรรมได้ พิจารณาไปเท่าไร น้ำตาก็หลั่งไหลออกมา

            พิจารณาธรรมต่อไป ธรรมหนึ่งก็ผุดขึ้นมาว่า .... "ให้เดินทางสายกลาง" ....  จิตได้พิจารณาย้อนกลับไปตามสัญญาว่า สภาพร่างกายของพระพุทธองค์ ขณะที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา จิตพิจารณาธาตุทั้งสี่ว่า หากร่างกายขาดอาหารหรือขาดน้ำ ร่างกายก็ขาดธาตุดินธาตุน้ำ เมื่อพระพุทธองค์ทรงกลั้นลมหายใจ ร่างกายก็ขาดธาตุลม เมื่อพระพุทธองค์ทรงกายอยู่แต่ภายในถ้ำอันอุดอู้ หรือทรงตากแดดตากลมฝน ร่างกายก็ขาดความสมดุลในธาตุไฟ การทรมานกายในทุกกิริยา จึงทำให้ขาดความสมดุลในธาตุทั้งสี่ จึงมิใช่ทางพ้นทุกข์ เมื่อพิจารณาตามพระพุทธองค์ จิตก็สว่างแลปีติสุดประมาณ 



"เทวดาหรือมนุษย์เป็นผู้แสดงออก"

             พวกเรานั่งภาวนานานหนึ่งชั่วโมง หลังจากออกจากสมาธิแล้ว จึงกลับลงมาที่วัดหน้าถ้ำ ปรากฏว่า มีกลุ่มชายชาวอินเดียที่เป็นชาวพุทธราวสิบคน ได้เข้ามาทักทายบุรุษผู้หนึ่ง ด้วยการแสดงอาการปีติยินดีอย่างเหลือล้น พร้อมกับระล่ำลักเป็นภาษาแขก ระคนปนกันกับภาษาอังกฤษ แม้จะไม่ค่อยเข้าใจภาษากัน แต่พวกเขาก็พยายามช่วยกันสื่อสารความในใจของพวกเขา คนแล้วคนเล่า สุดท้ายพวกเขาขอก้มลงกราบที่เท้าของบุรุษผู้นี้ ด้วยความนอบน้อม พลันน้ำตาแห่งความปีติยินดีของพวกเขา ก็หลั่งไหลออกมา เสมือนเคยมีความผูกพันกันมาแต่ชาติปางก่อน นี่ละหนาความทุกข์ของสัตว์โลก แม้จะอยู่กันคนละชาติภาษา แต่ใจและความทุกข์สุขนั้น เป็นภาษาเดียวกัน การแสดงออกอย่างที่ว่านี้ บางทีเทวดาก็แสดงบางอย่างออกมา ผ่านธรรมชาติเป็นลมเป็นฝน บางครั้งก็บันดาลออกมาผ่านเสียงสัตว์นานา บางครั้งก็แสดงออกผ่านสังขารร่างกายของมนุษย์ บางครั้งมนุษย์ ก็แสดงความเป็นเทวดาออกมาเสียเอง เพื่อสื่อสารอนุโมทนาซึ่งกันและกัน นี่ละความสุขทุกข์ของสัตว์โลก



3. เขาคิชกูฏ

           ท่านทั้งหลาย เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2558  คณะพวกเราเดินทางจากพุทธคยามุ่งหน้าสู่เมืองนาลันทา โดยมีภูเขาคิชฌกูฏเป็นจุดหมายแรก เมื่อไปถึงแล้ว คณะพวกเราเดินภาวนาขึ้นเขาคิชฌกูฏ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ด้วยใจศรัทธา พอขากลับคณะพวกเราได้นั่งกระเช้าไฟฟ้าขึ้นสู่วัดญี่ปุ่น ที่อยู่บนยอดเขาติดกัน ซึ่งปัจจุบัน อินเดียเขาได้พัฒนาขึ้นมา ก็เพื่อความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยว ไว้เป็นจุดชมวิวนั่นเอง





             เมื่อคณะพวกเรา ขึ้นไปถึงคันธกุฎีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเหลือเพียงฐานกุฎีสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐ ขนาดไม่ใหญ่มากนัก พวกเราได้กราบสักการะแล้ว จึงภาวนาเพื่อถวายบูชาคุณพระศาสดา แม้จะนั่งภาวนาท่ามกลางแสงแดดจ้า อุณหภูมิเกือบ 40 องศา แต่พวกเราก็ภาวนากันนานเกือบชั่วโมง  เมื่อออกจากสมาธิ มีผู้แสวงบุญชาวไทยหลายสิบคน จากจังหวัดกาญจนบุรี มากราบสักการะคันธกุฎีด้วย เมื่อพบกันแล้ว มีนักแสวงบุญชาวกาญจนบุรีสามท่าน เข้ามาก้มกราบบุรุษผู้หนึ่ง จึงนับเป็นความปีติยินดี ที่นักสร้างบุญได้แสดงออกต่อกัน  




คันธกุฎีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า





ถ้ำพระโมคคัลลานะเถระเจ้า



4. กราบหลวงพ่อองค์ดำ

            เมื่อคณะพวกเราลงจากเขาคิฌกูชแล้ว พวกเรามุ่งหน้าสู่วัดเวฬุวัน ที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวายพระพุทธองค์เป็นวัดแรก หลังจากนั้นจึงมุ่งหน้าสู่เมืองนาลันทา รัฐพิหาร อินเดีย ทันที เพื่อไปกราบสักการะบูชาพระพุทธรูปองค์ดำ 




5. นิมิตล่วงหน้า

            ท่านทั้งหลาย นิทานธรรมเรื่องนี้สมมุติว่า เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 3 พฤษภาคม 2558  ขณะที่บุรุษผู้หนึ่ง นั่งภาวนาอยู่ที่พักแห่งแรกในเมืองคยา ปรากฏเห็นภาพล่วงหน้าว่า คณะพวกเราจะได้ย้ายที่พัก โดยจะมีผู้เปิดห้องพักให้ใช้เป็นที่ภาวนา และปรากฏภาพต่อเนื่องว่า คณะพวกเรา จะได้ไปสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีรอยพระบาท ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมหรือการรับรู้เรื่องราวมาก่อน พอวันต่อมา 4 พฤษภาคม 2558 คุณอุ๊ซึ่งเป็นอุบาสิกาผู้ดูแลวัดพุทธสาวิกา ที่อยู่ไม่ไกลจากสถานที่พักแห่งแรกมากนัก เธอได้เชิญให้ไปพักที่วัดพุทธสาวิกา เพื่อภาวนาและแผ่เมตตา บุรุษผู้นี้ พิจารณาแล้วเห็นว่า มิใช่เหตุบังเอิญ จึงได้พาหมู่คณะย้ายไปพักภาวนาที่นั่น 




6. "พรหมโยนี"

             หลังจากนั้น เวลาประมาณบ่ายห้าโมงเย็นของวันที่ 4 พฤษภาคม 2558 คณะพวกเราได้ไปที่ภูเขาใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ที่เรียกว่า "พรหมโยนี" ซึ่งเป็นที่บำเพ็ญของชฎิล(ฤาษี) สามพี่น้อง พร้อมบริวาร 1,000 ตน ในเมื่อครั้งพุทธกาล หลังจากพระพุทธองค์ได้โปรดปัญจวัคคีย์ทั้งห้าแล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จมาโปรดชฎิลทั้งหมด จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้ง 1,000 องค์ เมื่อคณะพวกเราไปถึงแล้ว จึงได้พบรอยพระบาท แม้จะทำขึ้นมาใหม่ แต่ก็ตรงกับที่เห็นภาพล่วงหน้ามาแล้ว จึงไม่มีความสงสัยใดๆว่า นี้มิใช่เหตุบังเอิญแน่นอน ดังนั้น คณะพวกเราจึงร่วมกันภาวนา เพื่อถวายบูชาและแผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์ 









7. "อัศจรรย์วันวิสาขบูชาของอินเดีย"

            ท่านทั้งหลาย เนื่องในวันวิสาขบูชาของชาวอินเดียนั้น ทุกปีจะจัดขึ้นไม่ตรงกับประเทศไทย เพราะปฏิทินของอินเดียไม่มีเดือนแปดสองหน ซึ่งปี 2558 นี้ วันวิสาขบูชาของชาวอินเดีย จึงตรงกับวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน หรือตรงกับวันที่ พฤษภาคม 2558 วันวิสาขบูชาของอินเดีย จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ พุทธมณฑลพุทธคยา รอบมหาโพธิเจดีย์และต้นศรีมหาโพธิ์ เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธองค์

            สำหรับวันวิสาขบูชาของชาวอินเดียในปีนี้  รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญมาก โดยในปีนี้ รัฐบาลจัดให้มีขบวนรถไฟฟรีจากบอมเบย์ นิวเดลี และเมืองอื่นๆ สู่พุทธคยา จัดบริการรถไฟฟรีแก่พุทธศาสนิกชนชาวอินเดียเป็นกาลเฉพาะ จึงมีผู้คนหลั่งไหลมาทุกสารทิศ และไม่เฉพาะชาวอินเดียเท่านั้น แต่ยังมีชาวต่างประเทศอีกจำนวนมาก ต่างมุ่งมาที่เดียวกันด้วยความศรัทธา จึงนับว่าเป็นความอัศจรรย์ อย่างที่พวกเราไม่เคยเห็นจากที่ไหนมาก่อน โลกทุกวันนี้ บุญของพระพุทธศาสนาจึงยังคงมีอยู่ และนับว่าผู้คนเหล่านี้ เป็นผู้มีอานิสงส์ คือ เป็นผู้ที่มีกระแสพระนิพพานติดตามภพชาติไป
          






9. "ชายแขก แปลกดี"

           ท่านทั้งหลาย ในค่ำคืนแห่งวันวิสาขบูชาของชาวอินเดียนี้ คณะแสวงบุญชาวไทยรวมสิบเอ็ดคน ได้ไปกราบสักการะบูชาพระพุทธเมตตา และเดินเวียนเทียนรอบพระมหาโพธิเจดีย์ และต้นศรีมหาโพธิ์ ท่ามกลางเหล่าพุทธศาสนิกชน ที่เนืองแน่นจนแทบเต็มพื้นที่ ขณะที่คณะพวกเราเดินเวียนเทียนอยู่นั้น มีชายแขกชาวอินเดียผู้หนึ่ง เฝ้าติดตามถ่ายรูปบุรุษผู้หนึ่งและชาวคณะ ประเดี๋ยวก็มายืนอยู่มุมนี้ เผลอแว็บเดียวก็ไปยืนดักรออีกมุมหนึ่ง และอีกมุมถัดไป กระทำซ้ำกันไปอยู่อย่างนั้น จนครบทั้งสามรอบ สุดท้าย ได้ติดตามไปขอก้มลงกราบแทบเท้าของบุรุษผู้นี้ พร้อมทั้งระล่ำระลักขอได้โปรดเมตตาให้พร และจับที่ศรีษะของเขา เมื่อได้รับความเมตตาแล้ว ดูเขามีความปีติจนน้ำตาไหลออกมา

           มันก็แปลกดี หรือนี่คือความดี จึงทำให้เกิดความปีติแก่บุคคลที่ไม่เคยรู้จักกันได้ อย่างน้อยก็ทำให้ญาติธรรมผู้ติดตาม ได้มั่นใจในผลานิสงส์ ที่คณะพวกเราได้ร่วมกันกระทำ ความดีนี้ เทวดาก็สรรเสริญ มนุษย์ก็สรรเสริญ บางทีเทวดาก็แสดงออกมาผ่านร่างมนุษย์ บางทีมนุษย์ก็แสดงออกเป็นเทวดา แม้จะต่างชาติ ต่างภาษา ทั้งมีตัวตนและไม่มีตัวตน ต่างก็มีภาษาเดียวกันคือ "ภาษาใจ" ที่สามารถสื่อสารกันได้ทั้งโลกธาตุ

           อันนี้ มิได้มีเจตนาจะยกตัวตนผู้ใด เพียงแต่เล่าประสบการณ์นี้ไว้ เพื่อเป็นกำลังใจแก่กันและกันเท่านั้น





9. "ภาวนาในวันวิสาขบารมี"

            ท่านทั้งหลาย หลังจากคณะของพวกเรากลับจากการเวียนเทียนที่มหาโพธิเจดีย์ และต้นศรีมหาโพธิ์แล้ว พวกเรากลับมาภาวนาต่อในที่พักแห่งแรก (อยู่ไม่ไกลจากมหาโพธิเจดีย์) เมื่อออกจากสมาธิแล้ว พวกเราจึงได้สนทนาธรรมกันต่อ ขณะที่พวกเราสนทนาธรรมกันอยู่นั้น น้องออมผู้มีตาทิพย์ เธอเห็นเทวดามานั่งฟังอยู่ด้วย ต่อมามีพวกวิญญาณที่น่ากลัวเข้ามายืนอยู่หน้าห้อง แต่วิญญาณเหล่านั้นไม่กล้าเข้ามาใกล้ จนกระทั่งเวลาเลยเที่ยงคืนไปแล้ว นักภาวนาผู้หนึ่ง ตั้งใจจะพาหมู่คณะภาวนาต่อจนสว่าง แต่มีเหตุบังเอิญต้องได้พบกับคุณวัส หนุ่มไทยที่จาริกแสวงบุญจากศรีลังกาสู่อินเดีย แบกกระเป๋าพะรุงพะรังเข้ามาในที่พักยามดึกดื่น แม้จะไม่สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่สถานที่พักได้ แต่เราก็เมตตาให้เขาไปพักในห้องที่เรากำลังจะนั่งภาวนา  



10. "ภาวนาที่สระมุจลินทร์"

            ท่านทั้งหลาย นิทานธรรมเรื่องนี้สมมุติว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2558 กล่าวคือ คณะพวกเราได้เดินทางไปภาวนาที่สระมุจลินทร์ สถานที่ที่พญานาคมุจลินทร์ คอยให้การอุปัฏฐากและปกป้องขณะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ สถานที่แห่งนี้อยู่ห่างจากต้นศรีมหาโพธิ์และมหาโพธิเจดีย์ ราว 1 กิโลเมตร แต่รถเครื่องต้องอ้อมไปไกลหลายกิโลเมตร ปัจจุบันสระน้ำแห่งนี้เหลือพื้นที่ความเป็นสระขนาดประมาณ 1 ไร่ ถูกล้อมรอบด้วยบ้านของชาวอินเดีย และถูกปล่อยร้างมีสภาพสกปรก ไม่เหลือสภาพดั้งเดิมของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนเมื่อครั้งพุทธกาล นั้นเพราะเป็นไปตามกฎอนิจจังนั่นเอง



             พวกเราตั้งใจไปภาวนา ณ สถานที่แห่งนี้ ก็เพื่อเป็นการถวายบูชาพระพุทธเจ้า และรำลึกถึงคุณงามความดีของพญานาคมุจลินทร์ ที่คอยดูแลอุปัฏฐากพระบรมศาสดา ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว บุรุษผู้หนึ่งไม่มีเวลามายังสถานที่แห่งนี้ เขาจึงได้อธิษฐานจิตว่า เขาจะกลับมาภาวนาในสถานที่แห่งนี้สักครั้ง อีกทั้งเมื่อครั้งกระนั้น (ปี 2557) คุณครูกี๋ที่ไปด้วย เธอก็เห็นพญานาคสีดำตัวใหญ่ พญานาคบอกเธอว่า ท่านมาจากสระมุจลินทร์ แต่มิได้บอกว่าเป็นใคร จึงเป็นเรื่องคาใจที่นักภาวนาผู้นี้ ต้องมาแห่งนี้ให้ได้ เมื่อมาถึงแล้ว พวกเราเข้าที่ภาวนาทันที 

             อย่างไรก็ตาม การภาวนาในสถานที่นี้ แม้จะมีชาวแขกมามุงห้อมล้อม ส่งเสียงดังอึกทึก แต่ก็สามารถนั่งภาวนาได้สงบดี เมื่อภาวนาและแผ่เมตตาไปได้ระยะหนึ่ง ก็ปรากฏมีเสียงสัตว์นานา ไม่ว่านก วัว แพะ แกะ และสุนัข ร้องระงมขึ้นมาพร้อมๆกัน นานประมาณ 1-2 นาที แล้วก็เงียบเสียงลงอย่างพร้อมเพรียงกัน เสมือนเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวโลกทิพย์ ดลบันดาลผ่านเสียงสัตว์เหล่านั้นว่า พวกผู้ข้าได้รับกุศลผลบุญแล้ว จึงขอขอบพระคุณ และอนุโมทนากับคณะของพวกท่าน

            เมื่อออกจากสมาธิแล้ว คุณรีจอยส์เล่าให้ฟังว่า ขณะที่เธอนั่งภาวนา เธอเห็นพญานาค มาในร่างงูสีดำ เลื้อยเข้ามาในวงหมู่คณะ พร้อมกับจ้องตากับเธอในระยะกระชั้นชิด เธอเล่าต่อไปว่า หากเธอตกใจร้องออกมาว่า "งู" หมู่คณะคงตกใจแตกหือเป็นแน่ จึงได้แต่นั่งนิ่งไว้และแผ่เมตตาออกไป ส่วนคุณวัสก็เห็นงูสีดำด้วยตาเนื้อ เลื้อยเข้ามาในวงหมู่คณะ และคุณจ็อดก็เห็นงูสีดำเลื้อยผ่านเข้ามาทำเสียงดังเช่นกัน แต่แปลกที่เขาทำให้เห็นเพียงบางคน  และทำไมอยู่ดีๆ เด็กชาวแขกที่มามุงห้อมล้อมเพื่อขอทาน จึงถอยไปตั้งหลักกันอยู่ในแปลงนาห่างออกไป หรือว่าพญางูเป็นผู้กันแขกพวกนี้ออกไปกระมัง เมื่อทราบเรื่องราวกันแล้ว ต่างก็เกิดความปีติในบุญ จิตก็ตื่นเบิกบานกันถ้วนหน้า






11. "เผชิญคลื่นดำของพวกมิจฉาทิฏฐิ"

             ท่านทั้งหลาย เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงคืนวันที่ 5 พฤษภาคม 2558 หลังจากคณะพวกเราได้กลับจากสระมุจลินทร์ และต่อด้วยการไปภาวนาใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ในมณฑลพุทธคยาแล้ว เมื่อกลับมาถึงที่พักแห่งแรก ที่อยู่ไม่ไกลจากมณฑลพุทธคยามากนัก คืนนี้ บุรุษผู้หนึ่ง จึงตั้งใจพาญาติธรรมภาวนาจนสว่าง โดยเฉพาะสองแม่ลูกคือ คุณจุ๋มและน้องออม ที่พยายามจะถือเนสัชชิกด้วยการไม่นอน  เพื่อเป็นการฝึกอินทรีย์ให้กับเธอ 

             ในค่ำคืนนี้ ขณะที่พวกเรากำลังเริ่มภาวนา คุณใบ ผู้มีตาทิพย์ เธอเห็นกายในของแม่ชี โผล่เข้ามาหน้าประตูอย่างรวดเร็ว เธอตกใจร้องไห้ออกมา นักภาวนาผู้หนึ่งจึงปลอบใจเธอไปว่า อย่าตกใจ เขาคงแสดงให้รับรู้เฉยๆ เขาคงมาดูว่าพวกเรากำลังทำอะไรกันอยู่ ไม่เป็นไรหรอก  ต่อมา น้องออม เห็นร่างดำทมึน ท่าทางเอาเรื่อง โผล่อยู่นอกห้อง แม้เธอจะตกใจ แต่จิตเธอก็เข้มแข็งไม่หวั่นไหว ขณะเดียวกัน เมื่อคณะพวกเราปิดไฟนั่งภาวนา ท่ามกลางความสงบ ไม่นานก็ปรากฏมีเสียงผู้ชายกระแอมเสียงดัง ตวาดข่มขู่ อยู่หน้าประตูห้อง แต่พวกเราก็ยังนิ่งเฉยอยู่ ไม่นานเสียงตวาดข่มขู่ ก็ยังดังซ้ำขึ้นมาอีกถึงสองครั้ง บุรุษผู้หนึ่ง เฝ้าดูการกระทำของเขาอยู่ จึงเอ่ยในใจออกไปว่า 

            "ท่านอย่าได้กระทำการรบกวนผู้กำลังทำสมาธิอยู่เลย ท่านรู้ไหมว่า มันจะเกิดกรรมหนักมากขนาดไหน นี่ยิ่งมาทำกับผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ กรรมนั้นยิ่งหนักมากเข้าไปอีก พวกเราไม่เคยคิดมาเบียดเบียนใคร มีแต่มาเพียรละกิเลสและแผ่เมตตาให้แก่กัน ส่วนท่านจะรับเอาหรือไม่นั้น ก็จงพิจารณาเอาเถิด" 

             หลังจากนั้น เหตุการณ์ก็สงบลง พวกเรานั่งภาวนาในห้องนาน 1 ชั่วโมง และต่อด้วยการสนทนาธรรมกันเล็กน้อย หลังจากนั้น บุรุษผู้หนึ่ง พาสองแม่ลูก และคุณจ๊อด นั่งสมาธิ และเดินจงกรมต่อจนถึงสว่าง 

             อย่างไรก็ตาม ในช่วงราวตีสาม ขณะที่พวกเรากำลังเดินจงกรมอยู่บริเวณลานข้างนอก บุรุษผู้หนึ่ง ได้พิจารณาธรรมไปสักระยะหนึ่ง ปรากฏว่า มีเสียงชายลึกลับ ตวาดข่มขู่ก้องขึ้นมาภายในใจว่า... "มาทำไม เก่งนักรึ มายุ่งที่นี่ทำไม" ... เสียงนั้น ดูมีพลังอำนาจแผ่ซ่านกระทบไปทั้งกาย แต่ก็เป็นพลังมืดของเหล่าอสูรกาย ซึ่งแม้จะดูน่าเกรงขามสักปานใด แต่ก็มิได้ทำให้นักภาวนาผู้นี้หวั่นไหว  จึงได้แต่แผ่เมตตา พร้อมกับได้เอ่ยในใจไปว่า....

             "เราเป็นบุคคลธรรมดา ที่มาเพื่อเพียรละกิเลสออกจากใจ มิได้มีดี มีเก่ง มาอวดเบ่งใส่ผู้ใด และไม่เคยรู้เรื่องการกระทำของผู้ใด มีแต่ใจพามากราบพระพุทธเจ้าเท่านั้น แล้วทำไมพวกท่านจึงมาอวดเก่งเบ่งใส่พวกเราละ พวกท่านนับว่า เป็นผู้ที่โชคดีที่ได้อยู่ใกล้ดินแดนของพระพุทธเจ้า แต่ทำไมพวกท่าน จึงไม่ยึดเอาพระพุทธเจ้าเป็นครูอาจารย์ ทำไมพวกท่านไม่พิจารณาด้วยสติปัญญา ดูซิ ดูความดีของพระพุทธเจ้า ทำไมถึงยังมีผู้คนหลั่งไหลมากราบไหว้พระองค์ท่าน ทำไมจึงมีผู้สร้างพระสถูปเจดีย์ถวายท่าน 

             พระพุทธองค์ ท่านเป็นผู้มีฤทธิ์อภิญญาเหนือกว่าใครๆ ทั้งสามแดนโลกธาตุ แต่พระพุทธองค์ก็มิเคยใช้พลังอำนาจเหล่านี้ ไปทำร้ายเบียดเบียนผู้ใด ท่านมีแต่ความเมตตา "ความเมตตา" เหนือกว่าสรรพฤทธาใดๆ ทำไมพวกท่าน จึงไปเลือกปฏิบัติตามแนวทางของพระเทวทัต ดูซิ พระเทวทัตก็มีฤทธิ์อภิญญามากมาย แต่สุดท้ายก็ตกลงสู่มหาอเวจี ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ด้วยความหลงในอวิชชานั้น แล้วมันดีไหมละ พวกท่านจงพิจารณาดูซิ พระเทวทัตมีผู้คนกล่าวสดุดีสรรเสริญหรือไม่ มีผู้สร้างเจดีย์ถวายหรือไม่ ทำไมพวกท่านไม่ใช้ปัญญาพิจารณาเอา มัวหลงอวิชชาอยู่ได้ เราก็แนะนำพวกท่านได้แต่เพียงเท่านี้ เรามีแต่ความเมตตามาแผ่ให้พวกท่าน ท่านจะยินดีหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของท่าน เพราะเราได้ดำเนินตามปฏิปทาของพระบรมศาสดา และครูอาจารย์ของเราแล้ว เรามา ณ ที่นี่ มิได้มีจุดมุ่งหมายมาทำร้ายผู้ใด เพราะนี้มิใช่วิสัยของผู้มีธรรม  บัดนี้ เราได้ทำหน้าที่สมควรแก่เหตุแล้ว ขอท่านจงพิจารณาเอาเถิด" 

             หลังออกจากการภาวนาจงกรมแล้ว น้องออม เธอเล่าให้ฟังว่า มีวิญญาณชายร่างดำทมึน ท่าทางข่มขู่เอาเรื่อง เฝ้าติดตามพวกเราอยู่ตลอดเวลาจงกรม จึงเป็นพยานยืนยันซึ่งกันและกัน อันนี้ ก็ขอให้ผู้อ่าน จงพิจารณากันเอาเองเถิด






12. "ความดีคือบุญกุศล"

            ท่านทั้งหลาย การมาปฏิบัติธรรมสัญจร ที่ประเทศอินเดียในวาระนี้ นอกจากจะมีความอัศจรรย์เกิดขึ้นแก่หมู่คณะ ดังข้างต้นแล้ว ยังมีความดีหลายอย่างได้บังเกิดขึ้น ซึ่งนับเป็นคุณธรรมภายในแต่ละบุคคล อาทิ ทุกคนต่างมีความนอบน้อมต่อธรรม แม้ธรรมนั้นจะออกมาจากบุคคลใด แม้จะมิใช่พระสงฆ์ แต่ท่านทั้งหลายก็น้อมรับในคุณธรรมของบุคคลนั้น จึงนับเป็นความดี ดั่งเช่นพระพุทธองค์ ท่านทรงหยุดดำเนิน เพื่อสะดับตรับฟังธรรมจากสามเณรน้อย ที่กำลังแสดงต่อผู้คน แม้ "ธรรมะ" นั้น เป็นธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แต่พระพุทธองค์ก็ทรงน้อมรับฟังธรรมจากสามเณรน้อย ก็เพราะ "ธรรมะ" นั้นเป็นสิ่งมีค่าสูงสุด 

            อีกประการหนึ่ง ที่ควรนำมากล่าวถึงความดีก็คือ เมื่อท่านเธอทั้งหลาย ได้ไปลิ้มรสอาหารต่างๆ เมื่อรู้สึกว่า อร่อยและมีคุณค่าทางอาหาร เธอทั้งหลาย ก็จะนำมาให้นักภาวนาผู้หนึ่งดื่มทานเสมอ นักภาวนาผู้นั้นจึงแสดงอนุโมทนาออกไปว่า "การที่บุคคลใด เมื่ออยู่กับครูอาจารย์ ครั้นเมื่อตนได้ลิ้มรสอาหารดีอร่อย ก็มักระลึกถึงคุณครูอาจารย์เสมอ จึงน้อมนำสิ่งที่ดีปราณีตที่สุดไปถวายท่าน เช่นเดียวกัน การที่บุคคลใดอยู่กับครอบครัว ครั้นได้ลิ้มรสอาหารดีอร่อย ก็จะระลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รัก จึงมักจะนำสิ่งที่ดีเลิศนั้น ไปให้ท่านเหล่านั้น อันมีบิดามารดา สามีภรรยา และลูกหลาน เป็นต้น นี้คือความดีของผู้ที่มีคุณธรรม เมื่อผู้ใดมีความดีดังนี้แล้ว จะเอาดีทางโลกก็เจริญ จะเอาดีทางธรรมก็เจริญ เราจึงขออนุโมทนา" เมื่อฟังจบลง พลันน้ำตาก็เอ่อล้น ด้วยความปีติยินดีในบุญกุศลนั้นร่วมกัน





13. "ขออนุโมทนาบุญ"

            ท่านทั้งหลาย ธรรมปฏิบัติสัญจร ณ ประเทศอินเดีย ในวาระนี้ บุรุษผู้หนึ่ง ได้รับความเกื้อกูล จากผู้ใจบุญหลายท่าน จึงขออนุโมทนาในผลบุญทั้งหลาย อันมี น.พ.วิบูลย์ - คุณผกามาศ กมลพรวิจิตร ผู้บริจาคปัจจัยค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมด รวมทั้งผู้ร่วมทำบุญสมทบอีกหลายท่าน ได้แก่ คุณรีจอยส์ คุณมนัสนันท์พัช-คุณณัชษัณ พงศ์ธนัช คุณพัลลภา-คุณนิธิโรจน์ ชัยกิจวัฒนะ คุณธวัชชัย-นางนิตยา-นายธนดล บุญมา คุณเอ๊ะ น.พ.วราวุธ วุฒิพันธ์และภรรยา คุณอุ๊ คุณหน่อง คุณจ๊อด คุณใบและคุณแม่ เพื่อให้นักภาวนาผู้หนึ่ง ได้ใช้จ่ายส่วนตัวตามอัธยาศัย 

            อีกทั้ง ขออนุโมทนากับคณะผู้ร่วมติดตาม ที่ต่างได้คอยอุปัฏฐากดูแลบุรุษผู้หนึ่ง ประหนึ่งเป็นสมณเจ้า และขออนุโมทนาบุญ กับผู้ให้สถานที่พักทั้งสองแห่ง และโดยเฉพาะวัดพุทธสาวิกา(แม่ชีแก้ว) อันมี คุณอุ๊ อุบาสิกาผู้ดูแลวัดพุทธสาวิกา รวมทั้งคุณสงกรานต์ คุณหน่อง แม่ชี อุบาสกอุบาสิกาประจำวัด ก็ให้การต้อนรับดูแลเป็นอย่างดี และขอขอบคุณ คุณไก่ ญาติธรรมที่พบกันที่วัดพุทธคยา ที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ตลอดจนญาติธรรมที่อยู่เมืองไทย และในต่างประเทศ ที่คอยให้กำลังใจ และคอยอนุโมทนาทุกท่าน จงมีความสุขสำราญ มั่งมีศรีสุข อายุมั่นขวัญยืน แลสว่างไสวทั้งทางโลกและทางธรรม จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งพระนิพพาน ทุกท่านเทอญ

           ขอเจริญในธรรม
           ดร.นนต์ ผู้รจนาแทนคณะผู้แสวงบุญ 
           15 พฤษภาคม 2558

หมายเหตุ  อ่านเรื่องราว "ธรรมปฏิบัติสัญจร อินเดีย กับหลวงพ่อฉลวย อาภาธโร" ตามเว็บบล็อกของ ดร.นนต์ ตามลิงก์ต่อไปนี้