การคบบัณฑิต เป็นมงคลสูงสุด
สอนโลกด้วยธรรมเป็นรุ่นสุดท้าย🔷
สอนโลกด้วยธรรมเป็นรุ่นสุดท้าย🔷
เธอผู้กำลังจะเป็น "บัณฑิต" ทั้งหลาย บัดนี้ "ครู" ได้ทราบว่า พวกเธอต่างพากันยินดีพอใจ ในการที่จะจัดแสดงผลงานศิลปนิพนธ์ร่วมกัน "ศิลปะ" อันมีผลมาจากความอุตสาหะ พรากเพียร เรียนรู้ร่วมกันมา จะว่าบากบั่นหรือตรากตรำก็ใช่ เพราะอะไร? ก็เพราะตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 4 ปี หรือบางคนก็ 5-6 ปีขึ้นไป ก็ล้วนต้องใช้ความอดทนอย่างยิ่ง และต้องใช้ความพยายามขวนขวายหาความรู้อย่างหนัก ทั้งจากครูอาจารย์ เพื่อน และจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆมากมาย แม้บางครั้งอาจขี้เกลียด พลั้งเผลอหรือประมาทไปบ้าง แต่ในท้ายสุด ก็ต้องกัดฟันเอาใบปริญญานั้นจนได้ เพื่ออะไรกัน? ก็เพื่อประโยชน์แก่ตนเองนั้นประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง ก็เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น อันมีบิดามารดา ญาติพี่น้อง ตลอดจนสังคมโดยรวมสืบไป
อันนี้ ก็นับว่าเป็นความดีเบื้องต้น เพราะเธอได้ทำหน้าที่เรียนในฐานะที่เป็นนักศึกษา จนสำเร็จการศึกษา ต่อไป เธอต้องทำหน้าที่ให้ดียิ่งๆขึ้นไป ด้วยการนำเอาความรู้นี้ไปประกอบอาชีพที่สุจริต เพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว และเมื่อมีความมั่นคงทางครอบครัวแล้ว ต่อไป เธอก็ทำความดียิ่งๆขึ้นไปอีก ด้วยการนำเอาวิชาความรู้ทั้งหลาย ไปสร้างคุณประโยชน์แก่ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และชาวโลกต่อไปตามลำดับ เมื่อนั้น จึงจะนับว่า "เธอเป็นคนดีของโลก"
อย่างไรก็ตาม ในฐานะ "ครู" จึงขอทำหน้าที่สอนพวกเธอเป็นวาระสุดท้าย ด้วยการฝากคติธรรมไว้เตือนใจดังนี้
คำว่า "บัณฑิต" ที่เธอกำลังจะเป็นนั้น ยิ่งใหญ่และมีมงคลสูงสุด ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพุทธโอวาทแก่มนุษย์และเทวดา ณ วัดเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี ว่า "มงคลสูงสุด" อันเป็นหลักปฏิบัติเพื่อความเจริญก้าวหน้าแห่งชีวิตนั้น มีอยู่ 38 ประการ โดยขอยกเอาข้อความสำคัญในมงคลข้อที่ 1 และข้อที่ 2 จากทั้งหมด 38 ข้อ ตามลำดับ พออธิบายได้ดังนี้
1. อเสวนา จ พาลานํ : การไม่คบคนพาล เพราะคนพาลมักจะเป็นผู้ที่ชอบ "คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว" กล่าวคือ มักชอบแนะนำผู้อื่นไปในทางที่ผิด ชอบก้าวก่ายการงานผู้อื่น นินทาว่าร้าย ยุแยง กลั่นแกล้ง ทุจริตและเอาเปรียบผู้อื่น มักเห็นผิดเป็นชอบ มักเกเรและโกรธเคืองผู้อื่นเสมอ ไม่มีศีล ไม่มีระเบียบวินัย ไม่เข้าคิว และไม่เคารพกฎหมาย เป็นต้น ดังนั้น "การไม่คบคนพาล จึงเป็นมงคลสูงสุด"
2. ปณฺฑิตานญฺ จ เสวนา : การคบบัณฑิต เพราะ "บัณฑิต" หมายถึงผู้ทรงความรู้ มีปัญญา มีจิตใจที่งาม และมีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง รู้ดีรู้ชั่ว ผู้เป็นบัณฑิตจึงมีลักษณะดังนี้...
1) เป็นคนคิดดี คือ การไม่คิดละโมบ ไม่พยาบาทปองร้ายใคร รู้จักให้อภัย เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ และมีความกตัญญูรู้คุณ เป็นต้น
2) เป็นคนพูดดี คือ วจีสุจริต พูดจริง ทำจริง ไม่โกหก ไม่พูดหยาบถากถาง นินทาว่าร้ายผู้อื่น
3) เป็นคนทำดี คือ ทำอาชีพสุจริต มีเมตตา กรุณาต่อผู้อื่น อีกทั้ง มี "ทาน ศีล ภาวนา" เป็นปกติวิสัย
1) เป็นคนคิดดี คือ การไม่คิดละโมบ ไม่พยาบาทปองร้ายใคร รู้จักให้อภัย เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ และมีความกตัญญูรู้คุณ เป็นต้น
2) เป็นคนพูดดี คือ วจีสุจริต พูดจริง ทำจริง ไม่โกหก ไม่พูดหยาบถากถาง นินทาว่าร้ายผู้อื่น
3) เป็นคนทำดี คือ ทำอาชีพสุจริต มีเมตตา กรุณาต่อผู้อื่น อีกทั้ง มี "ทาน ศีล ภาวนา" เป็นปกติวิสัย
หากจะกล่าวโดยรวม ผู้เป็นบัณฑิตมักมีนิสัยในทางที่ดี กล่าวคือ เป็นผู้คิดดี ชอบชักนำผู้อื่นในทางที่ถูกที่ควร ชอบทำในสิ่งที่เป็นธุระและมีประโยชน์ เป็นผู้รับฟังที่ดี ไม่โกรธเมื่อมีผู้ตักเตือน เป็นผู้รู้ระเบียบ สะอาด และเคารพกฎหมาย เป็นต้น ดังนั้น "การคบบัณฑิต จึงเป็นมงคลอันสูงสุด"
ดังนั้น เมื่อเธอทั้งหลาย ได้เป็น "บัณฑิต" แล้ว ก็จงตั้งใจในความดี ด้วยการรักษาคุณธรรมแห่งบัณฑิตไว้ ตามที่ครูได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น จึงจะนับว่า "เป็นผู้มีมงคลอันสูงสุด" และเมื่อนั้น ความเจริญก้าวหน้าแห่งชีวิต ก็จะบังเกิดขึ้นแก่เธอทั้งหลายสืบไป
ท้ายสุดนี้ ครูมีความยินดีพอใจ ในกิจกรรมที่พวกเธอได้ร่วมกันกระทำในครั้งนี้ และขออวยพรให้เธอทั้งหลาย จงประสบความสำเร็จ และขอให้เป็นคนดี มีความสุข ความเจริญ มั่งมีศรีสุข และอายุมั่นขวัญยืนตลอดไป
รักและปรารถนาดี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล
อาจารย์ประจำสาขาวิชาทัศนศิลป์
คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม
มหาวิทยาลัยเทคโนโยลีราชมงคลอีสาน
11 เมษายน 2560
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล
อาจารย์ประจำสาขาวิชาทัศนศิลป์
คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม
มหาวิทยาลัยเทคโนโยลีราชมงคลอีสาน
11 เมษายน 2560
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น